ประธาน กรธ.รับลูก 4 องค์กรสื่อ ปรับแก้ 4 ข้อกังวล ‘สิทธิเสรีภาพ’

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้แทนจาก 4 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้พบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อหารือในประเด็นข้อห่วงใยที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 34, 35 และ 60 ทั้งนี้ นายมีชัยได้นำข้อหารือดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กรธ.ทันที เพื่อดำเนินการปรับแก้ และมอบให้นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.แถลงข่าวในวันเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อปรับปรุง 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.มาตรา 34 ว่าด้วยข้อยกเว้นที่อาจกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งร่างเดิมระบุว่า “เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น” โดยปรับแก้เป็น “เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่ตราขึ้น” เพราะมองว่า หากไม่ระบุถึงกฎหมายที่เป็นการเฉพาะ การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจถูกแทรกอยู่ในกฎหมายทั่วไป และยากแก่การติดตามตรวจสอบ

2.มาตรา 35 จากเดิมกำหนดเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบ “อาชีพ” สื่อมวลชน ได้ปรับแก้เป็น “วิชาชีพ” แทน ตามที่ประชุม 4 องค์กรสื่อเสนอ ด้วยเหตุผลว่า หากเป็นวิชาชีพแล้วจะช่วยให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานเป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริง และอยู่ใต้มาตรฐานประมวลจริยธรรมเท่านั้นที่จะได้รับการคุ้มครอง ขณะที่สื่อของกลุ่มผลประโยชน์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งไม่อยู่ใต้กรอบจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน จะถูกแยกออกไปอย่างชัดเจน และต้องรับผิดชอบต่อการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎหมายการละเมิดสิทธิบุคคลอื่น เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท เป็นต้น

3.มาตรา 35 วรรค 5 ส่วนที่ว่าด้วยเสรีภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสื่อมวลชน จากเดิมบัญญัติว่า “ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับ” วัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ ปรับแก้เป็น “ให้คำนึงถึง” เพื่อลดความกังวลว่าจะถูกผู้บริหารที่มาจากฝ่ายการเมืองแทรกแซงโดยอ้างภารกิจของสื่อของรัฐ โดยเฉพาะการเสนอแต่มุมของรัฐบาลเพียงมุมเดียว

Advertisement

4.มาตรา 60 วรรค 2 ว่าด้วยคลื่นความถี่ปรับแก้จาก “การให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วย” แก้เป็น “การให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย” เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนมีส่วนเข้าถึงตัวคลื่นความถี่ในฐานะผู้ใช้คลื่นความถี่โดยตรงตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image