วงเสวนา’รัฐสวัสดิการ’ ชูแบบ’นอร์ดิก’มีความเท่าเทียมกันของมนุษย์มากกว่า

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 ธ.ค. ที่ห้องอดุล วิเชียรเจริญ (ห้อง 201) ชั้น 2 ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนาวิชาการเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ / รัฐสวัสดิการ” โดยในช่วงต้นของงานเสวนา ได้มีการจัดฉายสารคดี เรื่อง “Where to Invade Next: บุกให้แหลก แหกตาดูโลก” ของไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับชาวอเมริกัน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศพัฒนาแล้วในโลก ซึ่งมีวิธียกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนของตนผ่านสวัสดิการต่างๆ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์  ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ?” ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องทางวิชาการ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของนโยบายสาธารณะของฝ่ายการเมือง ไม่ได้เป็นเพียงแค่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าหัวข้อนี้จะเป็นการแชร์ภาพให้เห็นว่า มันคือเรื่องของทุกคน จากสารคดี เรื่อง “Where to Invade Next: บุกให้แหลก แหกตาดูโลก” ทำให้เห็นภาพของความสวยงาม เห็นภาพของความเป็นไปได้ของชีวิตที่ดีกว่า หากพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการนี้ บอกตามตรงว่าเราอาจกำลังคุยกันเรื่องไดโนเสาร์ โลกทั้งโลกกำลังปฏิเสธการมีชีวิตที่ดี

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวต่อว่า นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของธนาคารแห่งเทศไทย นั่นคือ การพยายามที่จะบอกว่า มันเป็นไปได้ การมีรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่มีการเลือกสรรสถานะความยากจนว่า จนมาก หรือจนน้อยขนาดไหน ต้องมีบัตรคนจนหรือไม่ ในการที่จะได้มาต้องมีการพิสูจน์การได้มาซึ่งสวัสดิการอันนี้ เงื่อนไขเบื้องต้นของ รัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าครบวงจรที่จะเปลี่ยนสัตว์ให้กลายเป็นมนุษย์นั่นคือประชาธิปไตย ไม่สามารถเกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ต้องมาจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะทำให้รัฐสวัสดิการเข้มแข็ง รัฐสวัสดิการนี้จะทำให้เราใกล้ชิดกับประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งทุกวันนี้เรายังอยู่ห่างไกล

“วิธีการของสหรัฐอเมริกาการพยายามเอากลไกตลาดเข้ามาผลักดันพูดง่ายๆ คือ วิธีการคิดของสหรัฐอเมริกา คล้ายกับวิธีการคิดของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ในกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังบ้านเรา นั่นคือพยายามผลักดันให้ปัจเฉกขนรับผิดชอบชีวิตของตัวเองมากที่สุด พยายามผลักดันให้ภาคเอกชนได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอย่างมาก ถึงแม้จะให้มีกลไกตลาดเข้ามา แต่นโยบายของรัฐต่างๆ พยายามที่จะเอื้อให้ภาคเอกชน สามารถสะสมทุนได้อย่างเต็มที่ การให้ปัจเฉกชน ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนมาก ของประเทศรับผิดชอบชีวิตของตัวเองแต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าสวนทางกัน” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า  เวลาที่นึกถึงคำว่ารัฐสวัสดิการ บางครั้งในบริบทสังคมไทยก็ยังคลุมเครืออยู่กับการสังคมสงเคราะห์ พ่วงกับสวัสดิการชุมชนในหลายๆ อย่าง ซึ่งตนพยายามชี้ให้เห็นว่ามันแตกต่างกัน โดยส่วนตัวแล้ว ชอบรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก นั่นคือ มีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ รัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลักผ่านกลไกภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก อีกทั้งมีการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้าครบวงจร การศึกษาฟรี มีเงินชดเชยการว่างงานที่สูง และมีความมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สูง คนมีอิสระในการตัดสินใจทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

ขณะที่ น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ?” ว่า ในฐานะที่เป็นพลเมืองนั้น ทำไมบางคนถึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงสวัสดิการ ทั้งที่ควรจะเป็นพื้นฐานของประชาชน ความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้จริงหรือไม่ อะไรคือความเหลื่อมล้ำ และภาคประชาชนกำลังเรียกร้องในสิ่งที่เป็นความฝันอยู่หรือไม่ ภาครัฐจะเอาเงินมาจากไหน ทั้งนี้ก็มีประชาชนบางกลุ่มก็ยังคงไปกังวลแทนรัฐบาล  ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ว่าขณะนี้บ้านเรา มีความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน ภาคประชาชนมักจะถูกบอกว่า ทำงานบนฐานความรู้สึกคุณไม่มีตัวเลขไม่มีหลักฐาน ไม่มีข้อมูลทางวิชาการแล้วออกมาเคลื่อนไหวตามความรู้สึก

Advertisement

น.ส.แสงศิริ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจาก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ สิ่งแรกที่ทำความเข้าใจด้านความเหลื่อมล้ำได้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า เมื่อแบ่งประชากร หรือครัวเรือนในประเทศไทยออกเป็น 5 กลุ่ม ตามชั้นรายได้ กลุ่มคนที่จนที่สุดมีอยู่ถึง 20% โดยประชากรกลุ่มนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,574 บาท/คน/เดือน และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,496 บาท/คน/เดือน อีกทั้งกลุ่มคนที่ค่อนข้างจนก็มีอยู่ถึง 20% เช่นกัน โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,903 บาท/คน/เดือน เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4,892 บาท/คน/เดือน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่เป็นคนรวยที่สุด เมื่อปี พ.ศ.2558 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,161 บาท/คน/เดือน และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2560 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,545 บาท/คน/เดือน ข้อเท็จจริงคือ ประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดมีรายได้ลดลง แต่ประชากรกลุ่มคนที่รวยที่สุดกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น ฉะนั้นมันก็จะสวนทางกับสิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าวไว้

ด้านนายจาตุรนต์  ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคเพื่อไทย ระบุถึง “อุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทยทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ” ว่า การตั้งประเด็นแบบนี้อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่า อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดเรื่องรัฐสวัสดิการไว้ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องพูดกัน โดยคิดว่ายังจำเป็นที่จะวิเคราะห์เรื่องรัฐสวัสดิการ วิเคราะห์ว่าเราต้องการอะไร เราต้องการแค่ไหน ต้องการอย่างไร แล้วก็จะโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร ถ้าดูจากเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณะสุข และเรื่องเกษตรกร ก็จะเห็นว่า เรื่องการศึกษาที่ตอนสร้างรัฐธรรมนูญกันอยู่ก่อนลงประชามติ ก็มีประเด็นขึ้นว่า รัฐธรรมนูญใช้คำว่า เรียนฟรี 12 ปี และมีเรื่องการต้องดูแลเด็กเล็กโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็มีการตีความว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนฟรีนี้ไม่ครอบคลุมถึงชั้นมัธยมปลาย หรืออาชีวะ กระทั่ง คสช.ออกคำสั่ง มาให้เรียนฟรี 15 ปี

“ซึ่งถ้าพูดไปแล้ว ในทางระบบกฎหมายก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า คำสั่งของ คสช.นั้นมีผลจริงหรือไม่ มีผลในทางปฏิบัติไปแล้ว เพราะมีผลเป็นกฎหมาย แปลว่าทำตามกฎหมาย แต่พอรัฐธรรมนูญมีผลใช้แล้ว รัฐธรรมนูญบอก 12 ปี คสช.บอก 15 ปี มันก็มีคำถามว่าที่ เข้าใจกันว่า รัฐธรรมนูญบอก 15 ปีนี่แล้วทำไมต้องออกคำสั่งคสช. ถ้ารัฐธรรมนูญบอก 12 ปี แล้วคำสั่ง คสช. มีผลหรือไม่” นายจาตุรนต์ กล่าว

 


ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องแบบนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงการทำอะไรที่ต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญผ่านเป็นคำสั่งออกมา มันก็คงจะไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ หมายความว่าไม่มีคนไปร้องว่า ต้องครอบคลุม 15 ปี เหมือนอย่างคำสั่งของ คสช. มันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนจำนวนมากแล้ว มีคนไปร้องให้เป็นประเด็นขึ้นมา ยกตัวอย่างให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้ความจริงไม่ได้ตั้งใจที่จะครอบคลุมการให้การศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือเรียนฟรีมากขึ้น เรื่องสาธารณะสุข โดยไปเน้นใช้คำว่า ผู้ยากไร้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ที่ห่วงใยว่า มันจะไม่สอดคล้องกันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  โดยเรื่องการดูแลเกษตรกร ในรัฐธรรมนูญนี้พูดถึงเรื่อง ให้คุ้มครองรักษาผลประโยชน์เกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่อง ความเสี่ยงเรื่องรายได้หมายความว่า บางด้านที่เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งทางการศึกษา และสาธารณะสุข แนวโน้มการครอบคลุมมันลดลง

ด้าน รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึง “ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของรัฐสวัสดิการไทย” ว่า บางคนเกิดมาครบ 32 ประการ มีสติปัญญาตามปกติ บางคนเกิดมาอาการไม่ครบ 32 ประการ ผิดปกติ สติปัญญาไม่ปกติ แต่ถ้าเขาเกิดมาแล้วมีชีวิตรอด ไม่ว่าร่างกายจะครบหรือไม่ ไม่ว่าสติปัญญาจะครบหรือไม่ เขาคือคนๆ หนึ่งที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เขาใช้ชีวิตได้ตามศักยภาพที่เขามีตั้งแต่เกิด จะต้องลดอุปสรรคทางสังคมที่สามารถแก้ไขได้ ที่จะทำให้คนๆนั้นโตขึ้นมาแล้ว ได้บรรลุซึ่งศักยภาพที่เขาเกิดมาเต็มที่ เต็มร้อย

“ระบบสวัสดิการในประเทศที่เป็นเผด็จการ เป็นสวัสดิการแบบชนชั้น ชนชั้นหนึ่ง คือ ข้าราชการที่ได้อย่างเยอะแยะ ส่วนคนจนได้รับอยู่นิดเดียว มองว่าคนพวกนี้เป็นคนชั้นสอง รัฐไม่ได้มีหน้าที่ดูแล ให้ความรำคาญ ให้ด้วยความไม่ค่อยอยากให้ ถ้าไม่ให้เลย เดี๋ยวมาร้องมาก โวยวายก่อจลาจล เผาบ้านเผาเมืองา ก็เลยจำเป็นต้องตีตรา มีบัตรที่เรียกว่า สวัสดิการไม่ถ้วนหน้า พกบัตรยังไม่พอ ยังต้องเข้าช่องเฉพาะอีก เพราะว่าเข้าช่องทั่วไปแล้วโดนไล่ แบบนี้ที่เขาให้พกบัตรแล้วยังบ่นกัน ดีที่เขาไม่ให้ไปสักข้อมือ เขายังใจดีหน่อย ระบบสวัสดิการโดยที่รัฐให้ บนพื้นฐานของความคิด ความเท่าเทียมของคน ซึ่งจะนำซึ่งสิทธิและหน้าที่ และสวัสดิการที่เสมอภาค ระบบสวัสดิการที่ไม่แบ่งชนชั้น ระบบนี้คือ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอันแท้จริง” รศ.ดร.พิชิต กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image