09.00 INDEX บทบาท ความหมาย ‘ประสงค์ สุ่นศิริ’ ในการชี้ รัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจ

บทบาท ความหมาย ประสงค์ สุ่นศิริ

   ในการชี้ รัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจ

 

ยิ่งความเห็น “ต่าง” ในเรื่อง”ร่าง”รัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างร้อนแรงมากเพียงใด บทบาทของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ยิ่งน่าจับตา

Advertisement

มิใช่เพราะมองจากมุมแห่ง “ลูกป๋า”

เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเป็น “เลขาธิการ” นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หากที่สำคัญต้องมองจากฐานะหลัง “รัฐประหาร”

Advertisement

ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจได้รับเทียบเชิญเข้าดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

แต่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รับผิดชอบ “รัฐธรรมนูญ”

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ คนนี้แหละที่ได้รับเชิญให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

กระทั่งมาเป็น “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550”

เป็นรัฐธรรมนูญที่แม้ไม่สามารถ “สกัด” พรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ไม่สามารถ “สกัด” พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554

แต่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก็ “เดี้ยง”

แต่รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ “เดี้ยง”

ยิ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เพียงแต่ “เดี้ยง” หากแต่ยังถูกกระบวนการ “ชัตดาวน์” เล่นงานสะบักสะบอม

ทำท่าว่าจะถูกอายัดทรัพย์ 500,000 ล้านบาท

ทำท่าว่าจะถูกอายัดทรัพย์ไม่น้อยกว่า 2,400 ล้านบาทจากการออก”กฤษฎีกา”ให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558

ก็เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ก็เพราะฝีมือการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริและคณะอันมี นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ มีส่วนร่วมอยู่ด้วย

แล้วทำไมต้องจับตา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ

แล้วทำไม น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ จึงมีความสำคัญกระทั่งได้รับการเฝ้ามองอย่างชนิดทุกฝีก้าว

ก็เพราะความเป็น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นั้นเอง

 

ต้องยอมรับว่า น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ มีอารมณ์ “บ่จอย” เท่าใดนักต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แม้ว่าจะเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร”

แต่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็เป็นบุคคลแรกที่ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นรัฐประหารอันมี “ของเสีย”

นั่นก็คือ “เสียของ” ไม่กลัว แต่กลัว “ของเสีย” มากกว่า

และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็เป็นบุคคลแรกๆที่ตั้งข้อสังเกตว่า การรัฐประหารมิได้หมดสิ้นหรือหายไปไหน

หากแต่ยังดำรงคงอยู่ “ภายใน” ผู้มี”อำนาจ”

ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าเมื่อเห็น “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ไม่ว่าเมื่อเห็น “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็มองอย่าง”หวาด”ระแวง

ยิ่งเมื่อได้เห็นข้อเสนอ 16 ข้อจากครม.ประสานเข้ากับข้อเสนอ 3 ข้อใหญ่จากคสช.

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ยิ่งสรุปอย่างไม่ลังเลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเสนอว่าด้วย ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คน ยิ่งสร้างความเด่นชัดในทางความคิด

นั่นก็คือ เห็นว่าเป็น”กระบวนการของการสืบทอดอำนาจ”

“ที่คสช.อ้างว่าเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปนั้นผมไม่เชื่อ เพราะตอนนี้มีอำนาจขนาดนี้แต่การปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปพลังงานยังทำไม่เต็มที่”

เป็นการตั้งข้อสงสัยในเป้าหมาย “การปฏิรูป” ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีบทสรุปอันแน่ชัดในเรื่อง “กระบวนการสืบทอดอำนาจ”อย่างไม่มีข้อสงสัย

เป็นข้อสงสัยต่อ “คสช.”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image