‘องอาจ’ชง 3 ข้อแก้ร่างรธน. เชื่อปาฏิหารย์ไม่มีจริง ชี้ อยู่ที่มันสมองกรธ. หวั่นเขียนสุดโต่งผ่านประชามติยาก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มีนาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงถึงความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่ามีการปรับแก้ตามที่แต่ละฝ่ายเสนอหรือไม่อย่างไร  พบว่ามีการปรับแก้ตามสมควร อย่างไรก็ตามมีอีกหลายส่วนที่อยากให้ กรธ.พิจารณาละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะเนื้อหาบางส่วนอาจจะไม่ตรงกับที่มีการเสนอให้ปรับแก้ เช่น ในส่วนของตนและพรรค ปชป.ขอให้พิจารณาเรื่องเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ในร่างปัจจุบันลดเหลือแค่ภาคบังคับ 9 ปี และมีการเพิ่มในส่วนของเด็กก่อนวัยเรียนแต่ลดสิทธิของเด็กที่จะได้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพในช่วงมัธยมปลายเหมือนที่เคยได้ จึงขอเรียกร้องให้ กรธ.พิจารณาในเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย

นายองอาจกล่าวอีกว่า ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ กรธ.จะพิจารณาข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล ตนมองว่าคงสร้างความหนักใจให้กับ กรธ. เพราะมีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและคัดค้าน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ตนจึงอยากให้กำลังใจ กรธ.มีจิตใจมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง มีจิตสำนึกคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของคนใดคนหนึ่ง ตนเชื่อมั่นว่า กรธ.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอุทิศตนทำประโยชน์ให้สังคมมาอย่างยาวนาน จึงน่าจะพิจารณาได้ว่าข้อเสนอของ คสช.มีความเหมาะสมแค่ไหนสมควรจะบัญญัติไว้แค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ มี กรธ.ท่านหนึ่งขอให้สังคมให้กำลังใจและเชื่อว่าจะมีปาฎิหารย์เกิดขึ้น แต่ตนไม่คิดว่าปาฎิหารย์จะมีจริง เพราะขึ้นอยู่กับมันสมองและสองมือของ กรธ.จึงขอเรียกร้องให้นำข้อเสนอของ คสช.พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านเพื่อให้บทเฉพาะกาลได้รับการยอมรับจากประชาชน

“โดยเห็นว่าเนื้อหา 3 ประเด็นที่ คสช.ต้องการให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญควรมีการปรับเปลี่ยนดังนี้ 1.กรณีนายกรัฐมนตรีควรเป็น ส.ส.แต่กรณีที่จะให้มาจากคนนอกได้ควรเข้ามาในสภาวะวิกฤตตามแนวทางเดิมของ คสช.และร่าง รธน.ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ กรธ.เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเป็น ส.ส. ทั้งนี้ยังเห็นว่านายกฯคนนอกควรได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งโดยให้ กรธ.ใช้ดุลพินิจพิจารณาเอง 2.ที่มาของ ส.ว.สรรหา หาก กรธ.จะทำตามข้อเสนอของ คสช.ก็ควรมาจากกลุ่มสาขาอาชีพที่หลากหลายให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย ที่สำคัญคือไม่ควรมี 6 ตำแหน่งทางทหารและตำรวจเข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่ง และ 3.อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.สรรหา ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากจะเกี่ยวข้องต้องมีเงื่อนไขพิเศษเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ส.ส.” รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว

ส่วนระบบเลือกตั้งในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น นายองอาจกล่าวว่า ไม่ควรมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางการเมืองจึงหวังว่าจะมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถ้าหยิบเอาข้อเสนอทั้งหมดมาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการผ่านประชามติจะลำบากมากขึ้นและเป็นระเบิดเวลาผูกติดรัฐธรรมนูญอีกนานไม่เป็นผลดีต่อการทำให้บ้านเมืองเดินหน้า เพราะระบบเขตใหญ่แต่ให้เลือกคนเดียวนั้นจะทำให้เกิดผลข้างเคียงกระทบต่อการพัฒนาการเมืองและพรรคการเมือง เนื่องจากจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ อีกทั้งไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะทำให้บ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านไม่เกิดปัญหาได้ และการซื้อเสียงจะมีมากขึ้นด้วย

Advertisement

เมื่อถามถึงท่าทีของพรรค ปชป.จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายองอาจกล่าวว่า ต้องดูร่างสุดท้ายที่ออกมาว่าจะมีการปรับแก้อย่างไร โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาลว่าจะมีการบรรจุเนื้อหาตามที่ คสช.เสนอมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามท่าทีของพรรค ปชป. คงไม่สามารถออกมาได้ชัดเจน เพราะไม่สามารถทำการประชุมได้ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. คงมีท่าทีออกมา โดยผ่านการปรึกษาหารือและซาวเสียงอย่างไม่เป็นทางการว่าส่วนใหญ่จะมีความเห็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image