“ไพบูลย์”แนะแก้วิกฤต้องปฏิรูปการเมือง ไม่เห็นด้วยส.ว.อภิปรายนายกฯชี้ล้ำเส้น พยากรณ์กรธ.ปฏิเสธข้อเสนอคสช. ไร้ประชามติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มีนาคม ที่ห้องประชุมกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรมสุโกศล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มกรีนจัดเสวนา “ร่างรัฐธรรมนูญกับอนาคตปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภาและรักษาการหัวหน้ากลุ่มกรีน นายสุริยะใส กตะศิลา ที่ปรึกษากลุ่มกรีน และ นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ร่วมเสวนา

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เราต้องปฏิรูปการเมืองเป็นอันดับแรกเพราะเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากสาเหตุที่เราต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกัน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก็ผ่านประชามติ แต่เมื่อบังคับใช้ก็ทะเลาะกันมาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นมาตราแก้รัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขโดยง่าย เพียงแค่ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาก็สามารถแก้ไขได้แล้ว จนมาถึงวันนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการปฏิรูปการเมืองเพราะการเมืองล้มเหลวเป็นที่มาของการปฏิรูปอื่นๆ เช่น การเข้ามาของผู้มีอำนาจรัฐที่แอบแฝงผลประโยชน์ การซื้อขายตำแหน่งราชการต่างๆ และระบบพรรคการเมืองที่ออกแบบมาโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง นายทุนสามารถเข้ามาควบคุมพรรคการเมืองได้โดยง่าย จนประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหากจะเป็นร่างที่แก้ไขวิกฤตการเมืองได้ต้องปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องบัตรเลือกตั้ง โดยเฉพาะการถกเถียงในเรื่องบัตรใบเดียวหรือใบสองใบ ซึ่งตนมองว่าปัญหานี้เป็นเพียงแค่การออกแบบเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงแก่นแท้จริงๆ ของการปฏิรูปการเมือง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนส.ว.ที่ในบทเฉพาะกาลจะใช้ส.ว.สรรหา ซึ่งส.ว.สรรหาทำหน้าที่ถ่วงดุลกับสภาผู้แทนฯ ซึ่งสภาฯผู้แทนนั้นโดยหลักการบอกไว้ว่ามีหน้าที่ถ่วงดุลกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะส.ส.เสียงส่วนใหญ่กับครม.เป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นว่าการตรวจสอบและถ่วงดุลที่แท้จริงเกิดจากส.ว.ทั้งสิ้น เมื่อส.ว.จะต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลส.ส.เพื่อให้รัฐสภาไปถ่วงดุลกับครม. ทั้งนี้ส.ว.จะต้องทำหน้าที่ให้ได้ ดังนั้นส.ว.สรรหาอาจจะตอบโจทย์ในส่วนนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐของระบบรัฐสภาสามารถเดินหน้าได้ซึ่งตนเห็นด้วย

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนส.ส.จะต้องให้อำนาจการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่และมีความเป็นประชาธิปไตย และตนไม่เห็นด้วยที่จะส.ว.ไปทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกับส.ส.ในการเลือกนายกฯ เพราะถือเป็นการล้ำเส้นจนเกินไป เพราะไม่ได้เกิดการตรวจสอบแต่จะเป็นการไปควบคุมแทนซึ่งจะกลายเป็ยนข้อครหาได้ วันนี้หากมีส.ว.สรรหาตามที่ออกแบบไว้เพื่อมาดูแลองค์กรอิสระ ตรวจสอบองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง การถอดถอน แล้วเมื่อมีปัญหาในฝั่งรัฐบาลก็ใช้องค์กรอิสระที่มีอำนาจอยู่แล้วเป็นฝ่ายตรวจสอบ และส่งฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลตามปกติซึ่งเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ส.ว.อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้

Advertisement

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องดุลยภาพของรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี เพราะไม่ว่าเราจะเรียกร้องอะไรก็ตามสุดท้ายก็ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่าคสช.มีวิธีการจัดการถ้ากรธ.ประกาศในวันที่ 21 มีนาคมว่าไม่เอาข้อเสนอของคสช. คสช.คงไม่ปล่อยให้ไปส่งขั้นตอนการทำประชามติแน่นอน แต่คสช.จะแก้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 แทนว่าให้กรธ.ต้องส่งร่างฯให้คสช.ให้ความเห็นชอบก่อนทำประชามติ แต่ตนขอท้วงคสช.เรื่องการปฏิรูป แต่สนับสนุนสองเรื่องการคือการทำดุลยภาพให้เกิดขึ้น 1.ให้ประเทศเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ 2.การสร้างดุลยภาพเรื่องความมั่นคง เช่น ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงให้ผู้นำเหล่าทัพเข้าไปนั่งในสภาฯที่ถอดรูปจากคปป. เพียงแต่ใช้รูปแบบวุฒิสภาแทนคปป.เท่านั้นซึ่งตนเห็นด้วยเพราะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image