‘จาตุรนต์’อัดกกต.ออกกฎหมายปิดกั้นความเห็นต่าง บีบให้คนเลือกสิ่งที่ไม่ชอบกับสิ่งที่รังเกียจ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีการเสนอให้การกำหนดประเด็นคำถามพ่วงได้กับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เสนอให้นำประเด็นเรื่องบทเฉพาะกาล ประเด็น ส.ว.สรรหา ถามประชาชน คิดว่าประเด็นที่ควรถามประชาชนในการทำประชามติ ควรเป็นประเด็นใหญ่ๆ และสำคัญมากๆ ซึ่งถ้าจะทำจริงๆ จะเป็นประโยชน์ ประเด็นที่ควรจะถาม อันแรกที่แน่นอนคือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ควรมีคำถามพ่วงว่าเห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลหรือไม่ ถ้าต้องการถามเรื่อง ส.ว.สรรหา ควรจะถามว่า ส.ว.ควรมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง และเรื่องที่ยังขาดอยู่ควรต้องถามคือ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วหรือไม่ และภายใต้กติการัฐธรรมนูญฉบับใด อีกข้อ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดย คสช.ยกร่างเองหรือให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ หรือจะให้ประชาชนเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาร่าง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย ซึ่งทำให้การลงประชามติที่มีขึ้น มันเป็นการลงประชามติที่ประชาชนไม่มีทางเลือก เหมือนกับเป็นการมัดมือชก ถ้าไม่ผ่านอาจได้รัฐธรรมนูญที่เลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งมันคล้ายกับการลงประชามติในปี 2549 แต่การลงประชามติครั้งนี้ ยิ่งมีความไม่เสรี และไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่านั้นไปอีกมาก เพราะว่ายังคงใช้มาตรา 44 จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย นอกจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเปลี่ยนร่างกฎหมายทำประชามติ ในลักษณะที่ไปปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กฎหมายนี้ถ้าออกมาตามแนวที่มีการชี้แจง จะมีผลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อมีการเริ่มดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพียงไม่กี่คน ก็จะทำให้เกิดความหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะกำหนดบทลงโทษหนักสำหรับการบิดเบือน หรือการปลุกระดม หรือการจูงใจให้มีการออกเสียงไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนถ้าจูงใจพูดในทางสนับสนุนก็จะไม่มีความผิดใดๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ถ้าไม่เห็นด้วยจะถูกลงโทษจำคุก 10 ปี บวกความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์อีก 5 ปี อย่างนี้มันเป็นการปิดกั้นเสรีภาพอย่างร้ายแรง

“เวลานี้เท่าที่ฟังเสียงประชาชนสอบถาม มีคนไม่น้อยไม่แน่ใจว่า จะมีการลงประชามติจริงหรือไม่ เพราะดูจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก ทำให้เดิมสงสัยว่า หากร่างเพื่อให้ล้มไปในขั้นการทำประชามติ แล้วจะได้ร่างใหม่ แต่ดูท่าทีของผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ดำรงความมุ่งหมายอย่างชัดเจน ในการที่ให้ได้รัฐธรรมนูญอย่างที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้นเลยทำให้คนคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าให้ลงประชามติอย่างเสรีและยุติธรรมก็คงจะไม่ผ่าน ซึ่งถ้า คสช.ต้องการให้ใช้รัฐธรรมนูญแบบนี้จริงๆ ก็อาจจะให้ไม่มีการลงประชามติ ดังนั้น ไม่ว่าจะไม่ให้มีการลงประชามติ หรือให้ลงประชามติแต่ไม่เสรี ยุติธรรม ไม่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้ จะเป็นการสะสมปัญหารอวันขัดแย้ง และเมื่อความไม่พอใจปะทุขึ้นมาในอนาคต กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศได้ เวลานี้ตั้งคำถามเดียวมันไม่พอ มันจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาใหญๆ ได้ เนื่องจากการลงประชามติทำโดยเงื่อนไขกติกาที่ไม่สมบูรณ์ ให้ลงประชามติแค่ให้ผ่านหรือไม่ผ่าน โดยประชาชนไม่มีทางเลือก ซึ่งการทำประชามติที่ดีต้องให้ประชาชนมีทางเลือกด้วย ที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ แต่ที่เป็นอยู่นี้ เหมือนกับให้ประชาชนเลือกว่าจะเอาอย่างที่ กรธ.ทำตาม คสช.แล้ว หรือจะเอาอย่างที่ คสช.ทำเอง มันอาจเป็นการให้เลือกระหว่างสิ่งที่ไม่ชอบกับสิ่งที่ประชาชนรังเกียจเท่านั้น ดังนั้น การเพิ่มประเด็นคำถามควรเป็นทางออกที่ดีกว่า” นายจาตุรนต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image