“อดีต ส.ว.”วิพากษ์… ไอเดีย”บิ๊กตู่”-คัดส.ว.6กลุ่ม

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งแบบเลือกตั้งและแบบสรรหา ต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจำเป็นต้องมี ส.ว.สรรหา 250 คนในบทเฉพาะกาล คัดจาก 6 กลุ่ม คือ กลุ่มความมั่นคง, กลุ่มเศรษฐกิจ, กลุ่มสังคม, กลุ่มการต่างประเทศ, กลุ่มกฎหมาย, กลุ่มแก้ความขัดแย้ง เพื่อคุมกลไกการเปลี่ยนผ่านพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาประเทศ

 

นิคม ไวยรัชพานิช 

อดีตประธานวุฒิสภา และอดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา

Advertisement

ข้อเสนอ ส.ว.สรรหา 5 ปี จำนวน 250 คน คนในกองทัพล็อกไว้เลย 6 ตำแหน่งนี้อยู่ในฝ่ายที่กุมอำนาจทั้งหมด จึงมีความชัดเจนว่าจะมี ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายบริหาร นั่นก็คือผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ประเด็นที่ให้ ส.ว.พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมติดใจหลายอย่าง นั่นแสดงว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย และการให้ ส.ว.มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหมือน ส.ส.ที่มาจากประชาชน ก็ดูเหมือนไม่เป็นประชาธิปไตย การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้คงมั่นใจแล้วว่าฝ่ายบริหารจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือกลุ่มนี้ยังเป็นรัฐบาลต่อไป เพราะหากรัฐบาลเลือกตั้งมาก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญหรืองานบริหาร แต่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าเมื่อสรรหาเข้ามาแล้วจะได้ 6 กลุ่มเหมือนที่มีการกำหนดไว้ รวมทั้งจะได้คนที่มีคุณภาพเข้ามาหรือไม่ เพราะผู้ที่ถูกสรรหาจะรู้อยู่แล้วว่าต้องทำตัวอย่างไร หากให้มี ส.ว.เช่นนี้ ประการหลักคือจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะคนที่ถูกแต่งตั้งกลับมีอำนาจมากกว่าตัวแทนประชาชน ถ้ามีรัฐบาลเลือกตั้ง ส.ว.กลุ่มนี้จะสร้างความวุ่นวายจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเด็นนี้มีผลต่อการออกเสียงประชามติของประชาชนแน่นอน และเห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นมีมาตรการควบคุมการออกมาแสดงความคิดเห็น ความเคลื่อนไหวของคนก็จะส่งผลให้ประชามติเป็นไปตามเป้าหมาย

อยากบอกไปยังผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจว่า ขอให้ผ่อนๆ หน่อย อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ บทบาทของประชาชน ให้เขาได้มีสิทธิมีเสียงบ้าง

 

พิเชต สุนทรพิพิธ 

อดีต ส.ว.สรรหา

ผมเห็นด้วยบางส่วน คือ เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ว.เปลี่ยนผ่าน เพื่อตัดปัญหา ส.ว.เลือกตั้งซึ่งเหมือนสภาพี่ สภาน้อง สภาผัว สภาเมีย ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้เขียนที่มา ส.ว.ให้เลือกตั้งทางอ้อม โดยเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ ผมไม่เห็นด้วย เพราะกระบวนการเลือกเกิดความสับสน ซึ่งไม่มีทางหนีพ้นปัญหาการเล่นพวกพ้อง ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องมีวิธีสรรหาโดยมีคณะกรรมการ ซึ่งมีความสำคัญ เพราะคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต้องไม่เป็นที่กังขาของสังคม ดังนั้น ที่มาของคณะกรรมการต้องมีความหลากหลาย เป็นผู้ที่สังคมให้การยอมรับ อย่างไรก็ตาม ผมไม่มีความเห็นกับการให้ ส.ว.อยู่ถึง 5 ปี เพราะไม่รู้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นจะยาวนานเพียงใด แต่ก็ไม่ควรอยู่เกิน 5 ปี

ข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายที่ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามาเป็น ส.ว.ด้วย ผมว่าไม่จำเป็น และเชื่อว่าเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถป้องกันการปฏิวัติใดๆ ได้ ถ้าเข้ามาแค่รับฟังก็คงไม่มีประโยชน์เลย ทั้งนี้หน้าที่ ส.ว.นั้นหนักพอสมควร ประชุมกันอาทิตย์ละหลายวัน ผู้บัญชาการเหล่าทัพซึ่งมีภาระมากอยู่แล้วท่านจะไหวไหม คิดว่าคนเราคงทำงานเต็มที่ทั้ง 2 อย่างไม่ได้ ส่วนที่นายกรัฐมนตรีกำหนดให้แบ่ง ส.ว.ออกเป็น 6 กลุ่มเบื้องต้น สำหรับคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.กระบวนการสรรหาในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็มีคัดเลือกโดยกลุ่มอาชีพอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรผิดแปลก

การเสนอให้ ส.ว.มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ถามว่าจะพิทักษ์ได้อย่างไร หาก ส.ส.จะแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกต้องก็สามารถคัดค้านได้ แต่การห้าม ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีผมไม่เห็นด้วย เพราะสถานการณ์ของประเทศและโลกเราเปลี่ยนไปทุกวัน อะไรที่มีความจำเป็น เห็นชอบร่วมกันว่าต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็ต้องทำได้

 

เกชา ศักดิ์สมบูรณ์

อดีต ส.ว.ราชบุรี

ผมมองว่า ประเด็น ส.ว.สรรหาจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียปนๆ กันไป ข้อดีของ ส.ว.สรรหาในบทเฉพาะกาลจะทำให้หากมีรัฐบาลเกิดขึ้น ผู้บริหารประเทศจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการทำหน้าที่ และจะต้องไม่ทำอะไรที่เกินเลย เพราะที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ว่ารัฐบาลชอบอ้างว่ามีเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามี ส.ว.สรรหาแบบนี้ขึ้นมา คิดว่าอาจจะมีส่วนดี ขณะเดียวกันมั่นใจว่าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร

ส่วนข้อเสียนั้น บางคนอาจจะคิดว่า ส.ว.สรรหา 250 คน บวกกับฝ่ายค้านอีก ถ้าคิดเป็นตัวเลขก็เกือบครึ่งหนึ่งของสภา ถ้ามีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตรงนี้บางทีก็อาจจะกลั่นแกล้งรัฐบาล จะเป็นไปได้หรือไม่ ทำนองเดียวกันผมก็มีข้อสงสัยว่า การออกแบบให้ปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.สรรหานั้น ถ้าพูดกันตรงๆ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็เป็นลูกน้องรัฐบาลและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ รมว.กลาโหมโดยตรง มันท้าทายมากๆ ว่าลูกน้องจะกล้าอภิปรายไม่ไว้วางใจนายได้หรือ และจะทำได้อย่างไร ขณะเดียวกันถ้ามองว่ามีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้ามาแล้วก็อาจจะป้องกันปัญหาการปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นไปได้

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาบางทีรัฐบาลใช้อำนาจมาก แถมยังใช้เสียงข้างเยอะทำอะไรก็ได้ ดังนั้นก็อยากให้มี ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะเริ่มต้น แต่คิดว่าถ้าเปลี่ยนจาก 5 ปี มาเป็น 3 ปีจะดีไหม เพราะ 5 ปีบางทีอาจจะนานเกินไป และอยากให้ยึด ส.ว.สรรหาให้มีจำนวนตามเดิมคือ 200 คน ช่วยกันทำหน้าที่ประคับประคองประเทศ และถ้าหมดวาระก็ต้องไป รวมทั้งอยากให้มี ส.ว.ทั้งที่มาจากการสรรหา มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งผสมกันไป เพราะจะทำให้มีการยึดโยงจากประชาชนได้ มากไปกว่านั้นจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

ส่วนการจะกำหนดให้ ส.ว.แบ่งเป็น 6 กลุ่ม เพื่อรองรับภารกิจตามกลุ่มงานของ คสช.นั้น ในทางปฏิบัติยังคงต้องดูถึงความชัดเจนในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ด้วยว่าจะขับเคลื่อนงานได้ตรงกับภารกิจมากน้อยเพียงใด

 

ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี

และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง

ประเด็นนี้ผมได้แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอดว่า ส.ว.สรรหาทั้งหมดจะไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ช่วยการแก้ปัญหาประเทศเลยตามที่จะบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ในทางกลับกัน ส.ว.สรรหาแบบเดียวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรอก หากแต่จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามขึ้นมาสารพัด ทั้งนี้ อยากให้ลองนึกภาพและจินตนาการตามดูว่า ถ้ามี ส.ว.สรรหา 250 คน บวกกับฝ่ายค้านให้เกิน 375 เสียง แค่นี้จะคุมรัฐบาลหมด หนำซ้ำถ้าอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อใดพวกเขาจะทำให้รัฐบาลออกไปเสียเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าออกแบบให้เป็นเช่นนี้ทำให้รัฐบาลจะไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก และผิดหลักการของการปกครองที่รัฐบาลจะต้องเข้มแข็ง

ดังนั้น แนวทางของผมคือ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ คสช. จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องตามหลักการ พร้อมทั้งต้องแยกประเด็นหลักการออกจากการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะคนละประเด็นกัน ถ้าจริงจังต่อการแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้ได้จริง เพราะฉะนั้น ขอฝากข้อคิดไว้ว่า ถ้าไม่อยากเห็นบ้านเมืองแตกแยกต้องแก้ไขตามหลักการข้างต้นไปก็เท่านั้นเอง

กระนั้นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ แก้ไขปัญหาไม่ได้หรอก แต่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก เอาง่ายๆ แค่เสนอ ส.ว.สรรหาทั้งหมดขึ้นมา ก็มีคำถามออกมาพร้อมกับกระแสคัดค้านจากหลายๆ ฝ่ายกันแล้ว ไม่ว่าจะนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม ตลอดจนบรรดาสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซ้ำร้ายไปกว่านั้นอาจจะมีข้อครหาว่า ส.ว.สรรหาที่มาจากปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น แค่เราดูจากข่าวจะเห็นว่าไม่มีอะไรกั้นใครไว้ได้เลย ใครจะเข้ามาเป็นก็เป็นได้

หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากคนนอกแน่นอน เพราะประชาชนเขามองกันออกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image