‘บิ๊กจิน’เปิดภารกิจ’บุ๋น-บู๊’ ปรับทัพ’ยธ.-ดีเอสไอ’ สร้างเชื่อมั่น-ลดเหลื่อมล้ำ

หมายเหตุ – “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกตำแหน่ง

ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ 2557 ก็ไม่คิดว่าต้องมาทำหน้าที่ลักษณะนี้ เมื่อมาแล้วต้องศึกษา เข้าให้ถึงสารัตถะของงาน บทบาทหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบ สมัยที่เป็น คสช. ได้รับมอบหมายให้ดูกระทรวงเศรษฐกิจ 7 กระทรวง พยายามศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูล ขอความร่วมมือทุกกระทรวง ได้รับความรู้ ความร่วมมือที่ดี

ต่อมาได้รับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มีทีมงานที่ดี ได้รับความร่วมมือที่ดี งานแต่ละอย่างมีความยากง่ายแตกต่างกันไป พอเข้ามาเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลด้านการศึกษา ไอซีที และงานด้านวิจัย ยิ่งต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และล่าสุดควบ 2 ตำแหน่ง ทั้งรองนายกฯและ รมว.ยุติธรรม ต้องกำกับดูแลหลายกระทรวง ถือว่าเป็นภาระที่หนักอยู่

งานของกระทรวงยุติธรรมเป็นเรื่องของประชาชน สภาพความเป็นอยู่ของสังคม และเรื่องการสร้างศักยภาพคน การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ท้าทายและกังวลพอสมควร หากถามว่ารู้สึกอย่างไร ต้องบอกว่ากังวลบวกกับความท้าทาย ได้ปรึกษาทีมงานทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวง สอบถามแผนงานของกระทรวงว่าเป็นอย่างไร ท่านสุวพันธุ์ (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ อดีต รมว.ยุติธรรม) ฝากอะไรไว้หรือไม่ ก็เลยออกมาเป็นแนวทางการทำงานของตนเอง บวกกับยุทธศาสตร์กระทรวง 6 ด้าน ทำให้ตอนนี้มีความมั่นใจในระดับหนึ่ง

Advertisement

จากนี้ไปการทำงานจะเข้มข้นมากขึ้น โดยกำหนดแนวทางการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจนคือ 1.อำนวยความยุติธรรม 2.ลดความเหลื่อมล้ำ 3.ขจัดความทุกข์ยาก 4.สร้างประชาสามัคคี 5.คืนคนดีสู่สังคม แบ่งตามกลุ่มภารกิจทั้ง 5 กลุ่ม ครอบคลุมยุทธศาสตร์ 6 ด้านของกระทรวงยุติธรรม หลังจากนี้จะทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่กลุ่มใครกลุ่มมัน อันนี้คือความชัดเจนในช่วงนี้


นายกฯได้บอกเหตุผลหรือไม่ที่มอบหมายให้เป็น รมว.ยุติธรรมอีกตำแหน่ง

ท่านไม่ได้อธิบาย บอกเพียงว่า “พี่จะปรับสายงานให้ โอเคไหม” ก็ตอบว่า ยินดีครับ เราไม่ได้ถามว่าปรับสายงานคืออะไร แต่เมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว เลยทราบว่าคืออะไร มีทั้งการปรับสายงาน และมอบหมายให้มาเป็นรัฐมนตรียุติธรรม

Advertisement


อีกภารกิจ เหมือนเป็นหัวหน้าพีอาร์ให้รัฐบาลด้วย

จะเข้าไปช่วยเสริม แต่หน้าที่หลักในการประชาสัมพันธ์ยังคงเป็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ทำหน้าที่กำกับดูแล และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ชุดนี้ยังทำหน้าที่ตามปกติ ผมจะเข้าไปดูเรื่องการเติมเต็ม ดูผลตอบรับในเรื่องที่สื่อสารออกไปนั้นมีผลตอบรับอย่างไร ช่วยแสดงความเห็นปรับกลยุทธ์และให้คำแนะนำ คงไม่ได้ลงไปทำหน้าที่เต็มตัว

รัฐบาลต้องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องอะไร แก้ปัญหาส่วนใดเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังมีเรื่องใดต้องเร่งแก้ปัญหา จะได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนรับทราบ รวมถึงขอความร่วมมือในเรื่องใดบ้าง

สิ่งที่นายกฯต้องการ ไม่ได้หมายถึงการปรับเปลี่ยนโฆษก พิธีกร ให้มาเซอร์ไพรส์อะไร แต่ให้ดูในเรื่องเนื้อหา ติดตามประเมินผล อันไหนที่ยังขาดให้ปรับกลยุทธ์ และใช้ครีเอทีฟแบบสร้างสรรค์ เพิ่มเติมให้ครบ รัฐบาลไม่ต้องการสร้างภาพหรือเผชิญหน้ากับใคร รัฐบาลต้องการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนรับทราบว่ารัฐกำลังทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชน

“ผมจะไม่ค่อยบู๊ แต่จะบุ๋นมากกว่า แต่ในตัวจะมีทั้ง 2 อย่าง มันแล้วแต่สถานการณ์”

นายกฯมอบหมายภารกิจหรือคดีอะไรพิเศษให้มาดูหรือไม่

ยังไม่ได้กำหนดประเด็นมา เพียงแต่บอกว่า งานกระทรวงยุติธรรมมีความสำคัญ ต้องการคนที่มีความรู้ มีหลักการ ท่านมองว่าผมน่าจะได้ในเรื่องนี้ เป็นคนที่มีหลักการ เพราะกระทรวงยุติธรรมถือว่าเป็นต้นแบบของธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิติธรรม ความโปร่งใส หลักการเหตุผล ก็ยังรู้สึกภูมิใจว่าท่านมองเราเป็นคนแบบนี้ ให้แนวทางเพียงแค่นี้ เลยให้ไปดูกระทรวงยุติธรรม ซึ่งหลักการของกระทรวงยุติธรรมต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธา ทำให้เกิดการอำนวยความยุติธรรม กระทั่งคืนคนดีสู่สังคม

เริ่มต้นวางแผนการทำงานอย่างไร

กระทรวงยุติธรรมมียุทธศาสตร์ มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีหลายแบบ ทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การเข้ารับการช่วยเหลือ หรือเรื่องการร้องเรียน สิ่งเหล่านี้จะทำเป็นคู่มือแผนงาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปรับแผนงานของตนเองให้สอดคล้องกับนโยบาย

ยกตัวอย่างแผนงานเรื่องยาเสพติด

เรื่องยาเสพติด มีคนเข้าสู่ระบบงานราชทัณฑ์ประมาณ 3 แสนคน สถานพินิจฯประมาณ 1 แสนคน เฉลี่ยแล้วประมาณ 70% มาจากยาเสพติด คนเข้าสู่ระบบบำบัดมากขึ้น ดังนั้นต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือการป้องกัน ซึ่งขณะนี้พบปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเสพติด ส่งขายให้กลุ่มผลิตยาเสพติด

มีแนวคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศผู้เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา โดยการปลูกพืชทดแทน ขอความช่วยเหลือจากประเทศแถบยุโรป อเมริกามารองรับด้านการตลาด สนับสนุนงบประมาณ ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเท่าไหร่ มีพื้นที่เท่าไหร่ กี่หมู่บ้านที่ต้องเข้าไปสนับสนุน สมมุติว่ามี 20 หมู่บ้าน ต้องการรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ปีละกว่า 50,000 ล้านบาท ถ้ามีประเทศสนับสนุน คาดว่าใช้เวลา 6-7 ปี ปัญหาแหล่งผลิตก็จะหมดหรือลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณไปทำแผนสกัดกั้นตามแนวชายแดน การบำบัดรักษา นำเงินมาสร้างสังคมที่มีความสุข เป็นสังคมแบบสมาร์ทลีฟวิ่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ระหว่างการพูดคุยในระดับเจ้าหน้าที่ถึงแผนงานดังกล่าว หลังจากนั้นจะขยับเป็นระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำประเทศใน 5 ประเทศ คาดว่าภายใน 2-3 ปี นี่คือแผนคร่าวๆ

แผนงานในการปรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ต้องมีการทบทวน คงต้องย้อนไปดูว่าก่อนหน้าที่จะมีการตั้งดีเอสไอเป็นอย่างไร มีคณะกรรมการคดีพิเศษ มีกรอบการทำงาน โดยมี 22 พ.ร.บ.แนบท้ายคดีพิเศษ หากนอกเหนือจากนั้นต้องนำเสนอบอร์ดพิจารณา ให้ความเห็น เพราะฉะนั้น ต้องทบทวนว่างานใดที่ควรจะเป็นคดีพิเศษ ต้องคุยกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ชัดเจน ปรึกษาหารือกับฝ่ายความมั่นคงให้ชัดเจน

ดังนั้น เมื่อปรับภารกิจแล้ว ก็ต้องปรับโครงสร้าง ปรับกำลังพล และงบประมาณ มอบหมายให้ดีเอสไอไปทำแผนงานร่วมทั้งภารกิจหลักๆ ให้เสร็จภายในมกราคม ปี 2561 แผนงานนี้จะมีผลต่อการทำงานของคณะกรรมการคดีพิเศษ ผู้บริหารดีเอสไอ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในงาน ดีเอสไอต้องมีงานนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง งานสายสืบคดี แผนงานนี้จำเป็น เพื่อช่วยคลี่คลายในคดีที่ไม่เหมาะสม งานที่ค้างจะได้คลี่คลาย เชื่อว่าศักยภาพของดีเอสไอจะดีขึ้น

ดีเอสไอจะถูกลดขนาดองค์กรแค่ไหน

ถ้าพูดถึงวิชาคณิตศาสตร์ ชุมชนขยายตัวมากขึ้น ต้องมีเคสมากขึ้น ในทางคณิตศาสตร์ต้องตอบว่าใช่ แต่ในทางตรรกะ ต้องตอบว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม สร้างพื้นฐานจิตใจคนให้มีศีลธรรม สร้างหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด เพื่อช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ไม่ใช่ใช้หลักคิดว่า เมื่อสังคมเติบโต ชุมชนขยาย เหตุหรือคดีก็จะเพิ่ม แล้วนำไปสู่การสร้างองค์กรดีเอสไอให้ใหญ่ขึ้นรองรับ แบบนี้ไม่ได้ แต่เราต้องหาทางบูรณาการไปจัดการ ให้คนดีที่อยู่ในสังคมเป็นคนดีในสังคม ไม่ใช่คนเสีย

ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ดีเอสไอจะยังอยู่ในสัดส่วน 100% หรือลดสัดส่วนลง เหลือ 90 หรือ 85 แต่มีแนวคิดไว้ว่าไม่เพิ่ม ดังนั้น ต้องดูงานหรือคดีว่าจะปริมาณมากน้อยแค่ไหน ต้องสำรองคนไว้แค่ไหนอย่างไร เมื่อมีแผนงาน ก็จะรู้ว่าอัตรากำลังเต็มหรือยัง ส่วนไหนหรือสายงานไหนขาดแคลน ดูเป็นส่วนๆ หากต้องการเพิ่มส่วนไหน สามารถเกลี่ยส่วนอื่นมาเติมได้

คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน มกราคมจะเริ่มเห็นแผนงานชัดเจน แต่ระยะเปลี่ยนผ่านคงต้องใช้เวลา ตอนนี้ดีเอสไอมีคดีที่รับมากว่า 300 คดี ถ้าปรับแผน คดีเดิมจะลดลง คดีใหม่ที่จะเข้ามาก็ลดลง ตามบทบาทหน้าที่ใหม่

ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมจะถูกมองว่ามีปัญหา จะตอบโจทย์อย่างไร

ที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจว่า เวลาดีเอสไอทำงาน เป็นเพราะกระทรวงสั่งการ อันนี้ไม่ค่อยดี เลยอยากให้ชัดเจนว่าใครทำ ไม่ใช่เหมารวมทั้งกระทรวง หรือบางครั้งอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้สังคมสับสน เช่น เรื่องการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีคำถามว่าทำไม ต้องส่งไปตรวจที่ รพ.รามาธิบดีด้วย เพราะสถาบันนิติวิทยาศาสตร์น่าจะเก่งที่สุดแล้วในการค้นหาหลักฐานข้อเท็จจริง

เรื่องนี้ทำให้เสียเหมือนกัน เพราะสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นหัวหน้าวิทยาการด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดแล้ว แต่ทำไมยังตอบไม่ได้ ทำไมต้องส่งต่อไปหน่วยอื่น เรื่องนี้มีวิธีการนำเสนอในการตอบ เช่น ก่อนจะพูดหรือสื่อสารผ่านสาธารณะ ต้องพูดคุยกับญาติก่อนว่าอันไหนบอกสื่อได้ อันไหนบอกไม่ได้ มันเป็นเทคนิค และไม่ใช่ตอบแบบลดความน่าเชื่อถือของหน่วย สังคมเกิดความสับสน ตกลงจะเชื่อได้หรือไม่ ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ เราจะทำให้สังคมเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระทรวงเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงยุติธรรมในยุคของ พล.อ.อ.ประจิน จะมีสไตล์แบบไหน

คนเราเปลี่ยนยากในเรื่องบุคลิกภาพ แต่ละคนมีการทำงานเป็นสไตล์ของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน แต่เทคนิคกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนได้ ตอนที่ผมเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้คลี่คลายปัญหาภายในกองทัพอากาศ สามารถสร้างความปรองดองในกองทัพอากาศ ไม่มีก๊ก ไม่มีเหล่า

ช่วงปี 2557 มีการเชื่อมโยงกองทัพกับการเมือง ตอนนั้นกองทัพอากาศก็ชัดเจนในเรื่องจุดยืน ปกป้องสถาบัน ทำภารกิจของตนเอง แบ่งงานชัดเจน อันไหนงานของกองทัพ งานกลาโหม งานรัฐบาลเคียงข้างประชาชน แบ่งได้ชัดเจน

กระทรวงยุติธรรมในยุคนี้ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าทำมาแล้วก็จะทำต่อไป คือยืนเคียงข้างประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนี้ชัดเจน เพียงแต่จะมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น กลยุทธ์บางอย่างต้องเปลี่ยน ต้องมานั่งคุยกันว่า นโยบายการทำงานจะทำอย่างไรถึงจะนำไปสู่แผนปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ

โดยส่วนตัวแล้วไม่ใช่คนบู๊ ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายบุ๋น แต่ในตัวเองจะมีทั้ง 2 อย่าง ไม่อย่างนั้นคงไม่เป็นนักบินรบ เพราะถ้ามาบู๊ เป็นนักบินรบไม่ได้

แล้วจะใช้แบบไหนมากกว่ากันในกระทรวงยุติธรรม

หลักการจะต้องเป็นบุ๋น ส่วนจะบู๊ ก็แล้วแต่กรณีไป แน่นอนยืนยันว่ามีแน่ หลังมกราคมถ้ายังไม่เป็นไปตามแนวทาง นโยบาย อาจจะมีวิญญาณบู๊เข้ามาสิง แต่โดยรวมแล้วจะใช้ทั้ง 2 แบบ แล้วแต่บริบท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image