สนช.ยันกม.ภาษีที่ดินไม่แท้ง แต่ต้องแก้ไขให้รอบคอบ-ไม่สร้างผลกระทบ

แฟ้มภาพ

สนช.ยันกม.ภาษีที่ดินไม่แท้ง แต่ต้องแก้ไขให้รอบคอบ-ไม่สร้างผลกระทบ พร้อมประสานรัฐบาลเร่งเสนอกฎหมายรองรับสิทธิการเสนอกม.ของประชาชน

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 บังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ทางสนช.พยายามประสานงานให้คณะรัฐมนตรีเร่งเสนอกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ซึ่งเวลานี้มีปัญหาในการตีความ เช่น บางฝ่ายตีความว่าเพียงแค่หน่วยงานราชการนำเสนอร่างกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ ถือว่าเป็นการทำตามมาตรา 77 แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าจะสอดคล้องกับมาตรา 77 หรือ กรณีการตีความการเสนอกฎหมายโดยการร่วมกันเข้าชื่อของประชาชน จะต้องผ่านมาตรา 77 เช่นกัน หากตีความเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการผลักภาระที่เป็นต้นทุนในการรับฟังความคิดเห็นไปให้กับประชาชน ซึ่งไม่มีความเหมาะสม ดังนั้น ต้องมีกฎหมายออกมารองรับให้เกิดความชัดเจน

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 77 ที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ไปรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาตรา 77 ก่อนเข้าสภาเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอกฎหมายออกจากสภาแล้วกลับแก้เนื้อหาและสาระสำคัญเป็นอีกอย่าง เป็นประเด็นที่สนช.คิดมาก่อแล้วว่าควรต้องมีการแก้ไข ทั้งนี้โดยหลักการจะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งข้อบังคับการประชุมของสภาฯคุมอยู่ว่า ห้ามแก้ไขหลักการของกฎหมาย แต่มีบางกรณีที่มีการแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ได้แก้ไขหลักการ แต่ทำให้หลักการเดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้เกิดคำถามว่าแบบนี้ต้องเอาไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกหรือไม่ โดยเรื่องนี้เราจะหาข้อยุติในปี 2561 ให้ได้

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ขอขยายเวลาการทำงานเพิ่มเติม เพราะติดขัดเรื่องของการศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจจำเป็นต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เช่น กรณีที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์เองแต่ได้ให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งอาจมีผลต่อตัวผู้เช่า คือ เจ้าของที่ดินจะผลักภาระภาษีให้กับผู้เช่า เป็นต้น ดังนั้น อาจต้องรับฟังความคิดเห็นให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น โดยเรื่องการขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมสภากำหนดให้ขยายได้ไม่เกิน 60 วันแต่หากมีเหตุผลพิเศษและความจำเป็น หากที่ประชุมสนช.เห็นด้วยก็จะมีมติให้ขยายเวลาตามประสงค์ต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้ เชื่อว่ากฎหมายไม่น่าจะถูกตีตก เพราะสภาฯรับมาแล้ว เว้นแต่ว่าสภาฯจะลงมติไม่ให้ผ่านในวาระที่ 3 ซึ่งตอนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสภาฯแล้วก็ต้องทำให้เสร็จ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image