‘สุรชาติ’ ชี้ 5 คลื่นลมพัดกระหน่ำรบ.ปี 61 จาก “วิกฤตศรัทธา” ถึง “วิกฤตคำมั่นสัญญา”

“สุรชาติ บำรุงสุข” ชี้ 5 คลื่นลมที่รัฐบาลคสช.ต้องเผชิญตลอดปี 61 จากวิกฤตศรัทธาถึงวิกฤตคำมั่นสัญญา

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์ทางการเมืองปีใหม่ 2561 ว่า ช่วงรอยต่อจากปี 2560 มาสู่ 2561 เริ่มเห็นวิกฤตหรือคลื่นที่รัฐนาวาทหารลำนี้กำลังเผชิญ ซึ่งคำถามใหญ่อยู่ที่ว่า รัฐนาวาลำนี้จะเกยตื้นอับปาง หรือจะกลายเป็นเพียงเรือที่หมดพลังแล้วลอยอยู่กลางทะเลนิ่งๆ ตนเชื่อว่า วันนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤตศรัทธา โดยมีทั้งนาฬิกาและแหวนเพชรเป็นจุดเรื่มต้นที่จะนำไปสู่อีกหนึ่งวิกฤต นั่นคือ วิกฤตธรรมาภิบาล เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นตอบสังคมได้ชัดเจนว่า โอกาสในการตรวจสอบควบคุมรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารนั้น แทบเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จากนาฬิกาและแหวนเพชรยังย้อนกลับไปเป็นคำถามจากการดำเนินงานของผู้นำทหารหลายคนที่เข้ามาสู่การเมือง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ ทั้งเรือดำน้ำ หรือหลังรัฐประหาร 2549 เช่น จีที 200 รถถังยูเครน เรือเหาะ เป็นต้น

นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่วิกฤตตัวเลขก็จะเป็นโจทย์ของปีใหม่ 2561 เนื่องจากรัฐบาลเชื่อมั่นในตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจตัวเลขจีดีพีบนกระดาษที่อยู่ในระดับสูง แต่กำลังซื้อของชนชั้นกลางหรือระดับล่างลงไปกลับลดต่ำลงแทบไม่มี และวิกฤตนี้ตนมองว่า จะสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โตยอดหญ้าตายรากหญ้าขึ้น สภาวะเช่นนี้ ด้านหนึ่งเราเห็นเงื่อนไขของสินค้าเกษตรที่อยู่ในภาวะที่ประสบปัญหา หากรัฐบาลยืนยันที่จะพูดเรื่องตัวเลขบนกระดาษต่อไปก็จะนำไปสู่สภาวะที่คนไม่เชื่อ เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกับสตางค์ที่มีอยู่จริงในกระเป๋าของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังมีวิกฤตจากรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศใช้แล้ว แต่กลับไม่ใช้จริง เป็นรัฐธรรมนูญที่ซ้อนรัฐธรรมนูญอีกฉบับไว้ เห็นได้จาก การขยายบทบาทของทหารในภาวะสันติ จากคำสั่งคสช.ที่ 51 /2560 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการทำให้กอ.รมน.เป็นซูเปอร์กระทรวงคุมทุกกระทรวงรวมทั้งคุมสมช.ซึ่งทำหน้าที่คุมระบบความมั่นคงทั้งหมดของประเทศด้วย

“เรากำลังเห็นคือสภาวะรัฐซ้อนรัฐ จากเงื่อนไขแบบรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ นัยยะของคำสั่งฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งในอนาคตอยู่ในสภาวะที่เป็นเป็ดง่อย เป็นการสร้างรัฐทหาร โดยคนไม่รู้สึก และไม่จำเป็นต้องยึดอำนาจ เมื่อนำไปรวมกลับกลไกลที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีอายุยาวถึง 5 สมัยของรัฐบาลเลือกตั้ง เสมือนเป็นการทำรัฐประหารเงียบ 20 ปีก่อนการจะมีเลือกตั้ง พรรคทหารในรัฐธรรมนูญที่มีส.ว.แต่งตั้ง 250 คน รวมไปถึงกลไกอื่นทางกฏหมายหลายส่วน จะทำให้ได้รัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งจากการทำนโยบาย เพราะถูกคุมผ่านยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมีแรงต้านจากบรรดาปีกของพรรคการเมืองที่จะเป็นคลื่นลมตลอดปี” นายสุรชาติ กล่าว

Advertisement

นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางคลื่นลูกต่างๆ สุดท้ายจะนำไปสู่คลื่นลมขนานใหญ่ที่รัฐบาลต้องเผชิญคือ วิกฤตจากคำมั่นสัญญา เพราะผู้นำรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาในเรื่องโรดแมปสู่การเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ทั้งคำมั่นสัญญาที่โตเกียว คำมั่นสัญญาที่นิวยอร์ก และคำมั่นสัญญาล่าสุดที่กรุงวอชิงตันว่า การเลือกตั้งจะอยู่ที่ปลายปี 2561 ซึ่งตนคิดว่าผู้นำไทยมีสิทธิบิดพลิ้วคำสัญญา แต่หากเป็นจริง การบิดพลิ้วถึง 3 ครั้ง จะอันตรายในตัวเอง จะทำให้รัฐบาลไทยไม่มีความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์เวทีเศรษฐกิจและการลงทุนกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ฉะนั้นวิกฤตต่างๆ ในปี 2561 จะเป็นปีของความท้าทาย เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่แน่นอนว่านักวิชาการไม่ใช่หมอดู คลื่นจะเล็กหรือใหญ่ทำนายไม่ได้ แต่สิ่งที่พอเห็นทิศทางในอนาคตคือ วิกฤตแต่ละลูกจะเป็นระลอกคลื่นที่กระแทกรัฐนาวาของทหารไม่จบ ส่วนรัฐบาลจะมีกำลังพอที่จะพาเรือรบลำนี้ฝ่าคลื่นได้หรือไม่ การเมืองเข้มข้นร้อนแรงมากเพียงไร สถานการณ์ในอนาคตจะเป็นคำตอบของตัวมันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image