เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช.ทวนความให้สมาชิก คสช. เพราะที่ผ่านมามักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายๆ ฝ่ายว่าคสช.ด้วยอำนาจพิเศษไปลิดรอนและไปก้าวก่ายหน้าที่ ต่างๆ ดังนั้นที่ประชุมคสช.จึงทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา44 จะมีหลัก4 ประการ 1. การมาตรา44 ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ 2. เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง3.การรักษาความปลอดภัยให้กับสังคม และประชาชน และ4.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อำนาจมาตรา44 จะมีผลทางนิติบัญญัติ ซึ่งมาตรา44 จะมีศักดิ์เท่ากับกฎหมาย ส่วนผลทางฝ่ายบริหาร คำสั่งมาตรา44 จะสั่งให้ข้าราชการต้องปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ อาทิ การปรับย้าย และตุลาการ จะใช้ในการตัดสินคดีได้ ซึ่งนี่เป็นหลักการ แต่ว่าการใช้มาตรา44 นั้น คสช.ยืนยันว่าไม่ไปก้าวก่าย และยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการแต่อย่างใด เพียงแต่จะทำให้ช่วยให้เรื่องต่างๆเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
“เราจะใช้มาตรา44 เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วน หากล่าช้า ไม่ทันการณ์ จะเสียหาย จึงจะใช้คำสั่งดังกล่าว แต่ถ้าไม่ใช้ก็จะออกเป็นกฎหมายตามปกติแทน และสุดท้ายเราจะใช้มาตรา4 เป็นเครื่องมือปฐมพยาบาล เฉพาะหน้า เมื่อใช้ไปแล้ว ก็จะออกเป็นกฎหมายตามมา เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งขอยืนยันว่าเราไม่ใช้มาตรา44 ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน จะใช้เฉพาะหน้าเท่านั้น” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว และว่า หากจบภารกิจตามโรดแมปเมื่อใด คสช. จะออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งคสช.ต่อไป”พล.ท.สรรเสริญกล่าว