09.00 INDEX เหตุคว่ำร่างฯ กันยายน 2558 มิใช่”อยากอยู่ยาว”อย่างเดียว

ยิ่งใกล้วันที่ 29 มีนาคม ยิ่งทำให้วันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นวัน”ประชามติ”ซึ่งกกต.ประกาศออกมา

มีความสำคัญ มีความหมาย

ความหมายมิได้เพียงวันที่ 7 สิงหาคม ตรงกับ “วันรพี” อันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ นักกฎหมาย หากยังเป็นวันกำหนด “อนาคต” ของ “รัฐธรรมนูญ”

วันที่ 7 สิงหาคม จึงมิได้หมายถึงอนาคตของ “รัฐธรรมนูญ” ว่าจะได้รับการยอม รับ หรือไม่ได้รับการยอมรับ
หากแต่ยังหมายถึง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”

Advertisement

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้หมายความเฉพาะแต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ หากแต่ยังหมายถึง นายชาตชาย ณ เชียงใหม่ หากแต่ยังหมายถึง นายนิยม รัฐอมฤต
และยังหมายถึง นายอมร วิวัฒน์วานิชย์

ขณะเดียวกัน หากถามว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีกำเนิดมาจากใครและผู้ใด

คำตอบ 1 คือ มาจาก”คสช.”
คำตอบ 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ มาจากการลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอ ชา หัวหน้าคสช.

ดำรงอยู่ในฐานะ 1 ในแม่น้ำ 5 สาย

เมื่อเอ่ยถึง “อนาคต” ของรัฐธรรมนูญ จึงหมายรวมไปยังอนาคตของ พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.ไปด้วย
หาก “ประชามติ” ผ่าน ก็ฉลุย

ขณะเดียวกัน หาก “ประชามติ” ไม่ผ่านก็จะนำมาซึ่ง “คำถาม” มากมายประเดประดังสุมเข้ามา

สุมเข้า “คสช.” สุมเข้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ระยะเวลาจากวันที่ 29 มีนาคม ไปยังวันที่ 29 เมษายน ไปยังวันที่ 29 พฤษภาคม ไปยังวันที่ 29 มิถุนายน ไปยังวันที่ 29 กรกฎาคม

เป็นเวลา 4 เดือนอัน “สำคัญ”
เป็นเวลา 4 เดือนอัน “ทรงความหมาย”

ถามว่าเหตุปัจจัยทำให้ชะตากรรมของ”ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ถูกคว่ำในเดือนกันยายน 2558
เป็นการคว่ำโดยมติ “สปช.”

เหตุผล 1 ซึ่ง นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ครุ่นคิด ประมวล สังเคราะห์และวิเคราะห์ออกมาในภายหลัง คือ
“เขาอยากอยู่ยาว”

เพราะว่าภายในเนื้อหาของ”ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับนั้นล้วนดำเนินไปตามทิศทางที่คณะกรรมาธิการรับงานมา
นั่นก็คือ “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีมาจาก “คนนอก” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “คปป.”อันเป็นองค์แห่งอำนาจ ไม่ว่าจะเป้นเรื่องอำนาจองค์กรอิสระ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง”ศาลรัฐธรรมนูญ”

เรียกว่า “ตามใจแป๊ะ” ทุกอย่าง แล้วทำไมยัง “ถูกคว่ำ”

คนที่จะสั่งการให้ “คว่ำ” ได้ย่อมมิได้เป็นการสอดแทรกเข้ามาของพรรคเพื่อไทยหรือนปช.คนเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด
ต้องเป็น “คสช.” เท่านั้นจึงจะ “สั่ง”ได้

ตรงนี้เองที่นอกเหนือจากเป้าหมายที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”แล้ว อีกเหตุผล 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ
คสช.เกรงว่าจะถูกคว่ำในขั้น “ประชามติ”

“ประชามติ” ต่างหากเป็น “ด่านหิน” ที่บรรดาคนแวดล้อม”คสช.”เป็นห่วงและนำไปสู่การตัดสินใจในเดือนกันยายน 2558
จากเดือนกันยายน 2558 มายังเดือนสิงหาคม 2559

“คสช.”จะยังกลัวด่าน “ประชามติ”อยู่หรือไม่-น่าศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image