กกต.เคาะงบประชามติเฉียด3พันล้าน! ‘สมชัย’ ขู่ จัดเวทีไม่เเจ้งกกต.อาจมีความผิด

กกต.เคาะงบประชามติเฉียด 3 พันล.เตรียมส่งสำนักงบฯ สัปดาห์หน้าแจงโทษความผิด ‘สมชัย’ ชี้รณรงค์สืบทอดอำนาจทำได้แต่ไม่รู้กกต. 4 คนว่าอย่างไร-ชี้จัดเวทีไม่ลงทะเบียนกับกกต.อาจมีความผิด

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ แถลงถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการออกเสียงประชามติ ว่า ที่ประชุม กกต. ได้รับทราบเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งที่ประชุม กกต. ก็ได้เห็นชอบในหลักการให้ใช้วิธีพิเศษจ้างหน่วยงานของรัฐ ในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีระยะเวลาในการดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติค่อนข้างจำกัด แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการโดยวิธีพิเศษนั้น มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นการจ้างหน่วยงานรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมกกต. ยังเห็นชอบในกรอบกำหนดเวลาในการออกเสียงประชามติ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือนส.ค.นี

นายธนิศร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับงบประมาณในการจัดการออกเสียงประชามตินั้นอยู่ที่ 2,991 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานกกต. จะส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดออกเสียงประชามติ ไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งงบประมาณแต่อย่างใด แต่ที่มีความล่าช้าในการพิจารณางบประมาณนั้น เนื่องจาก กกต.ต้องพิจารณาในทุกรายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานที่จะส่งผลในสิ้นเปลืองงบประมาณ เพื่อทำให้รัฐเกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า การเคาะงบประมาณการทำประชามติ 2 พันกว่าล้านบาทดังกล่าว กกต.ได้พยายามดูรายละเอียดทุกบรรทัดเพื่อให้เกิดประโยชน์และประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่งกกต.จะส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณให้พิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น แทบไม่แตกต่างไปจากพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมีการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 62 ระบุว่า กรณีที่ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนข้อสงสัยว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายความผิด ก็ต้องมีการยื่นคำร้องมายังสำนักงานกกต. ที่จะมีอนุกรรมการคอยพิจารณาเพื่อกลั่นกรองว่าจะรับหรือไม่รับก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ถ้าสุจริตและสุภาพก็ไม่เป็นปัญหา เช่นถ้ามีการยื่นคำร้องว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งรณรงค์ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สืบทอดอำนาจ หากเป็นความเห็นส่วนตัวของตนนั้นตนจะมองว่าไม่ผิด แต่กกต.อีก 4 คนอาจจะมองว่าผิด ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุม กกต.พิจารณาคำร้องว่าผิดหรือไม่ ถ้าเป็นการแสดงความเห็นเชิงหลักวิชาการก็ไม่ต้องกลัว ทั้งนี้ กกต.กำลังจัดทำคำแนะนำว่าการกระทำใดทำได้และการกระทำใดอาจเสี่ยงที่จะขัดกฎหมายประชามติ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น

Advertisement

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดเวทีรณรงค์การออกเสียงประชามติ กกต.ไม่สนับสนุนให้เกิดการตั้งเวทีระดับจังหวัด ถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะรณรงค์ในระดับจังหวัดเป็นไปได้ว่ากกต.จะไม่อนุมัติ เนื่องจากกกต.จะเปิดโอกาสให้ส่งตัวแทนมาดีเบตผ่านสื่อสาธารณะ โดยจะจัดทั้งหมด 10 รอบให้สองฝ่ายส่งตัวแทนมาแสดงความเห็นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่าและได้ประโยชน์กว่าการจัดเวทีในจังหวัด ส่วนถ้ามีการจัดเวทีโดยไม่แจ้งกกต.นั้นผู้จัดก็ต้องไปรับผิดชอบกันเอง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิดต่อพ.ร.บ.ประชามติ หากจัดแล้วเกิดความวุ่นวายในพื้นที่นั้น หรือผิดต่อกฎหมายความมั่นคงเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น หลักสำคัญต้องคำนึงถึงบรรยากาศความสงบเรียบร้อย มีเหตุมีผล ภายใต้กรอบกติกาของสังคมในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่ใช่สังคมที่จะเปิดโอกาสในทุกเรื่องต้องทำเท่าที่ทำได้ การออกแบบเช่นนี้เป็นผลดีที่สุดที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นอาจมีบางคนฉกฉวยเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผลของการทำประชามติคือการตัดสินใจของประชาชน เมื่อออกมาอย่างไรต้องเดินหน้าในทิศทางนั้น จะห้ามคนทุกคนให้คิดเหมือนกันคงไม่ได้ ส่วนความกังวลว่าหลังจากการทำประชามติแล้วจะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ไม่ใช่ความรับของกกต. เพราะหน้าที่กกต.คือจัดทำประชามติและประกาศผลเท่านั้น สำหรับกรณีที่คนต่างประเทศปลุกระดมเกี่ยวกับการทำประชามตินั้น ตนยอมรับว่ากฎหมายการออกเสียงประชามติยังไปไม่ถึงและคงไม่มีการเขียนเพิ่ม แต่ถ้ามีการร้องเรียนก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาของกกต. ซึ่งเราขอแค่ว่าให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ทันก็พอแล้ว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นทราบว่าที่ประชุมสนช. ได้มีการตัดข้อความในส่วนที่กกต.ให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ในการนำร่องออกเสียงประชามติบางหน่วยเลือกตั้งที่มีความพร้อม ซึ่งการออกเสียงประชามติครั้งนี้จึงยังไม่ได้ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สนช.ให้เพิ่มในส่วนที่กรรมการประจำหน่วย(กปน.) สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการเข้าไปคูหาด้วย เพื่อไปกากบาทบัตรออกเสียงประชามติให้ ตามเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image