บทเรียนรัฐบาล จากฐาน ส.ว. โดย ส.ส. เป็นตัวประกอบ

แฟ้มภาพ

บทเรียนรัฐบาล จากฐาน ส.ว. โดย ส.ส. เป็นตัวประกอบ

ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

เหตุผลตอนเริ่มแรกก็คือว่าเป็นเหมือนสภาพี่เลี้ยง คอยประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยเดินไปได้ มีวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้รู้ดีกว่าคอยกลั่นกรองกฎหมายจะได้ไม่มีข้อผิดพลาด

ผ่านไป 84 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังจะมีวุฒิสภาอยู่ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ส.ว. ที่แต่งตั้งเข้าไปในวุฒิสภามาจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือก บางครั้งถูกสรรหาโดยผู้มีอำนาจไม่กี่คน

กำลังทางการเมืองของวุฒิสภาจึงอาจกลายเป็นกำลังของผู้ต้องการมีอำนาจในยุคนั้น

Advertisement

บทเรียนที่น่าศึกษาที่สุดก็คือวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2521

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ 2521

หลังการรัฐประหาร 2519 ความโหดร้ายจากการที่กลุ่มขวาจัดเข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์และสังหารนักศึกษาไปจำนวนหนึ่ง พร้อมกับการจับกุมคุมขังนักศึกษาประมาณ 3,000 กว่าคน ทำให้นักศึกษาและประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายก้าวหน้าได้หนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งขณะนั้นใช้กำลังอาวุธโค่นอำนาจรัฐ มียุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง การต่อสู้จึงเกิดขึ้นในเขตชนบทเกือบทั่วทั้งประเทศ

รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ภายใต้คณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ประกาศนโยบายปฏิรูปซึ่งมียุทธศาสตร์ต่อเนื่องถึง 12 ปี แต่ใช้ปกครองประเทศได้ไม่ถึง 1 ปีก็ถูกรัฐประหารโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเดือนตุลาคม 2520 เป็นการรัฐประหารซ้ำที่ทำแบบไม่เกรงใจใครทั้งสิ้น คงเห็นว่าไม่มีใครยอมรับรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2519 ได้เลย

Advertisement

แต่ผลที่ตามมาก็คือคณะรัฐประหารชุดใหม่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเช่นเดิม พลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหารจึงเปิดเกมนิ่ม ใช้ไม้อ่อนด้วยการปล่อยตัวนักศึกษาที่เป็นแกนนำซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏโดยใช้กฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2521

และถือโอกาสนิรโทษคนฆ่าไปด้วย

จากนั้นจัดการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วประกาศใช้ในเดือนธันวาคม 2521เพื่อเตรียมเลือกตั้ง จะได้ไม่ถูกเรียกว่าปกครองแบบเผด็จการ

ปี 2522 มีการเตรียมการเลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

บ้านเมืองในขณะนั้นกล่าวได้ว่าอยู่ในสภาพที่สถานการณ์ภายในและภายนอกไม่น่าไว้วางใจ

คือภายในประเทศก็มีกองกำลังติดอาวุธของ พคท รบกับรัฐบาลอยู่นับร้อยจุด

ส่วนรอบบ้านเราหลังชัยชนะของกลุ่มคอมมิวนิสต์อินโดจีน… เวียดนาม ลาว กัมพูชา เกิดสภาพที่แปรเปลี่ยน มีความขัดแย้ง กองทัพเวียดนามบุกเข้ากัมพูชา เพื่อล้มรัฐบาลเขมรแดง ที่จีนสนับสนุน

กองทัพหลักเวียดนามได้เคลื่อนกำลังมาใกล้ชายแดนไทยทางด้านตะวันออก เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง

สภาพการเมืองการทหารแนวชายแดนไทยขณะนั้นสับสนมาก ฝ่ายต่อต้าน กลายเป็นทหารเขมรแดงร่วมกับกองกำลังของ พคท.อีสานใต้ และทหารไทย ให้การสนับสนุน ส่วนอาวุธได้รับจากจีนและอเมริกา

แม้สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ แต่แนวทางการแก้ปัญหาการเมือง ที่เสนาธิการแนะนำแก่พลเอกเกรียงศักดิ์คือจะต้องมีการเลือกตั้งและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

หลังปีใหม่ 2522 มีรัฐธรรมนูญแล้วพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นช่วงกลางเดือนมกราคม พอถึงปลายเดือนมกราคมก็เดินทางไปเยือนอังกฤษ และต้นเดือนกุมภาพันธ์ได้เดินทางไปเยือนอเมริกา เข้าพบกับประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ การไปในครั้งนั้นไทยได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่เรื่องกระสุนปืนเล็กที่ตกค้างอยู่ในไทย การแก้ไขปัญหายาเสพติด เรื่องเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอีกจำนวนหนึ่งที่จะผ่านธนาคารโลก ในขณะเดียวกันก็พบกับเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน

กำหนดการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2522 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521

วุฒิสภา…ตามรัฐธรรมนูญ

แห่งราชอาณาจักรไทย 2521

รธน. ฉบับนี้ประกาศใช้วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 มีสาระที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจดำเนินต่อไป คือ…

1. รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา เป็นผู้ยื่นชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการโปรดเกล้าฯ ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา

2. ส.ว. มาจากการแต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 2 ปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 โดยวิธีจับสลาก และทำดังนี้จนครบ 6 ปี ส.ว. เป็นข้าราชการประจำได้

ส.ว. มีอำนาจหน้าที่เท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

3. นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการลงประชามติ แม้ไม่เป็นที่พอใจของนักการเมืองและประชาชน ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็ให้ประชาชนได้แค่นี้

การแสดงการเลือกตั้ง

…ผลก็คือ กลุ่มวุฒิสภาใหญ่สุด

เมื่อถึงเวลาที่ละครเรื่องเลือกตั้งเปิดการแสดง ผู้สนใจร่วมต้องสมัครในนามกลุ่มการเมือง เพราะยังไม่ให้ตั้งพรรค ทำให้กำลังทางการเมืองกระจายตัวออก ทั้งนักการเมืองและประชาชนใช่ว่าอยากจะได้ประชาธิปไตยในสภาพนี้

แต่การต่อสู้กับอำนาจรัฐในขณะนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่อยากต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่นเดียวกับ พคท. และนักศึกษาที่อยู่ในป่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยปลอมๆ เหมือนคนเรือล่ม จมน้ำ ได้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาหายใจ จากนั้นก็มองหาขอนไม้เกาะ คิดว่าลอยคอต่อไปคงมีโอกาสรอด

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. 22 เมษายน 2522 ทั้งหมด 301 คน ปรากฏว่า กลุ่มกิจสังคมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 82 คน กลุ่มอิสระร่วมกัน 63 คน กลุ่มชาติไทยได้ 38 กลุ่มประชากรไทย 32 กลุ่มประชาธิปัตย์ 32 กลุ่มเสรีธรรม 21 กลุ่มชาติประชาชน 13 กลุ่มพลังใหม่ 8 นอกนั้นเป็นกลุ่มเล็กได้ 1-3 คน

สถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ ขณะนั้นกลุ่มประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช ได้ถึง 29 กลุ่มกิจสังคมได้ 2 และประชาธิปัตย์ได้เพียง 1

และในขณะที่ผู้คนกำลังลุ้นผลการเลือกตั้ง ก็ได้มีการประกาศแต่งตั้ง ส.ว. 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. คือ 225 คนเป็นทหารบก 112 ทหารเรือ 39 ทหารอากาศ 34 และตำรวจ 8 มีพลเรือน 32 ภายในวันเดียวเราก็มีสมาชิกรัฐสภา 526 คน ใครคุมเสียงเกินครึ่ง (264 คน) จะได้เป็นนายกฯ

เรียกประชุมสภาด่วน

ผ่านสถานีวิทยุ โทรทัศน์

จู่โจมเลือกนายกฯ

หลังการเลือกตั้งก็ชัดเจนว่าพลเอกเกรียงศักดิ์จะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล กลุ่มกิจสังคมโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้า แถลงว่าจะไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับใครทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์ บริหารประเทศได้ไม่สะดวก สุดท้ายก็จะล่ม รัฐบาลผสมแบบนี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อนาคตถ้าพลเอกเกรียงศักดิ์ตั้งรัฐบาลไม่ได้ กิจสังคมจะจัดตั้งเอง

ส่วนกลุ่มประชาธิปัตย์มีมติว่าให้อยู่เฉยๆ และจะเป็นฝ่ายค้านพร้อมกับเตรียมปฏิรูปพรรคเนื่องจากประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก

วันที่ 9 พฤษภาคม 2522 มีการประชุมสภาทั้ง 2 สภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาในตอนเช้าและตอนบ่าย พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ จากกิจสังคมได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

10 พฤษภาคม สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานีประกาศเชิญประชุมรัฐสภาแบบสายฟ้าแลบ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 เวลา 14.00 น. เรื่องนี้ทำเอาสายการเมืองที่สังกัดพรรคโวยวายกันใหญ่ว่าการประชุมจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ทำแบบนี้มีเงื่อนงำ

วันที่ 11 พฤษภาคม เมื่อถึงเวลาประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม 349 คน จาก 526 คน หายไป 177 คน และก็มีการซาวเสียงหาตัวนายกฯ จริงๆ ใครไม่มาก็ตามใจ ผลปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ 311 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม 20 คน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยโรงเรียน ส.ว. โรงเรียนจีนและอเมริกา

การตั้งรัฐบาล

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ตั้งคณะรัฐมนตรีครบทั้ง 44 ตำแหน่ง

โดยพลเอกเกรียงศักดิ์นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วยังควบตำแหน่ง รมว.คลัง และ รมว.เกษตรฯ นั่งทีเดียว 3 เก้าอี้ ส่วนงานด้านการทหารก็ให้ความไว้วางใจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง

การตั้งรัฐมนตรีครั้งนี้มีผู้วิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับสายการเมืองน้อยไป มาจาก ส.ส. เพียง 8 คน ซึ่งพลเรือนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. 3 คน ส่วนอีก 19 คนมาจากข้าราชการประจำ เช่น ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ปลัดกระทรวงการคลัง ผอ.สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิการบดีจุฬาฯ อธิการบดี ม.เกษตรฯ อธิบดีกรมอัยการ รองอธิบดีกรมตำรวจ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นต้น

แม้จะมีอำนาจมากมายขนาดนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังกล้าบอกว่าให้เวลารัฐบาลนี้ 6 เดือน พลเอกเกรียงศักดิ์ เก่งกว่านั้น อยู่ได้ตั้ง 9 เดือน แต่ใครสอย…อินทรีบางเขน…ผู้มีอำนาจคับเมืองร่วง? ทั้งๆ ที่มีกองทัพ และ ส.ว. หนุนถึงกว่า 200 คน เกิน 40% ของรัฐสภา… ต้องว่ากันตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image