‘วิษณุ’พอใจ กรธ.ทำตามใบสั่งปม ส.ว.สรรหา เชื่อร่างจะผ่าน เหตุปชช.อยากเลือกตั้ง

“วิษณุ” พอใจ “กรธ.” ทำตามข้อเสนอ “คสช.” ปม “ส.ว.สรรหา” เชื่อร่างรธน.ผ่าน “ประชามติ” เหตุประชาชนคิดว่าถึงเวลาเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับข้อเสนอ คสช.ในประเด็นให้มี ส.ว.สรรหา จำนวน 200 คน ที่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหา และใช้วิธีการสรรหาแบบไขว้อีก 50 คน ตามที่ กรธ.ออกแบบไว้ ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด วันที่ 29 มีนาคมนี้ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจะออกมาคงได้เห็น ส่วนที่ กรธ.รับเพียงข้อเสนอเดียวนั้น ต้องถาม คสช.ว่าพอใจหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่า กรธ.มีข้อจำกัดของตัวเองอยู่ จากการเดินสายชี้แจงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา การที่ร่างออกมาแบบนี้ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจและรับได้ ถือว่าใกล้เคียงสิ่งที่ คสช.ได้เสนอไป กรธ.พยายามทำดีที่สุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามที่ คสช.ได้บอกไป แต่ยังคงรักษาจุดยืนในสิ่งที่เขาคิดขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกฯ 3 รายชื่อ รวมถึงวิธีสรรหา ส.ว.แบบไขว้ พร้อมทั้งมองว่าที่ กรธ.บัญญัติวิธีได้มาซึ่ง ส.ว.สองรูปแบบนั้น เป็นการพบกันแบบครึ่งทาง เขากันบางส่วนเพื่อทดลองใช้วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่ตามที่ได้เดินสายอธิบายกับประชาชน ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่างให้การยอมรับ และเป็นสะพานให้โยงไปสู่บทถาวรของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การให้ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา บางฝ่ายเกรงว่า จะถูกครอบงำโดย คสช. นายวิษณุกล่าวว่า ดูจากการแถลงของ กรธ.แล้ว เป็นเหมือนการเปิดประตูไว้สำหรับออกกฎหมายลูก ที่จะกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาและจะใช้วิธีการคัดเลือกอย่างไร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายลูก ไม่ใช่จะเปิดกว้างทั้งหมดที่กลัวกันว่าใครเป็นคนเขียนกฎหมายก็จะเขียนเข้าข้างตัวเองนั้น หากร่วมกันเขียนก็จะเข้าข้างกันหลายฝ่าย และตอนจะออกกฎหมายลูกก็ต้องผ่านคนหลายฝ่าย
ประชาชนเมื่อได้รู้ก็คงมีการปรับปรุงกันตอนนั้น ส่วน ส.ว.จะมีเมื่อใดนั้น คงต้องรอดูในบทเฉพาะกาล รวมถึงกฎหมายลูกและการให้ ส.ว.มีส่วนร่วมลงมติเปิดช่องให้ ส.ส.สามารถเลือกคนนอกเป็นนายกฯได้ ในกรณีไม่สามารถเลือกบุคคลตามที่พรรคการเมืองมีการเสนอรายชื่อเป็นนายกฯได้นั้น ถือเป็นดาบสองเมื่อเกิดวิกฤตตอนนั้นคนทั้งประเทศต้องรู้ว่าวิกฤตคืออะไร

เมื่อถามว่า ส.ว.สรรหาจะกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนอาจหวาดระแวง เพราะจะกลายเป็นเกราะป้องกันให้ คสช. นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ กรธ.ต้องทำความเข้าใจ คสช.ก็เช่นเดียวกันก่อนประชาชนจะลงประชามติ เพราะ คสช.ยึดอำนาจมาก็มีสิทธิเป็นห่วงสถานการณ์ฝ่ายความมั่นคงคงมีข้อมูล ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะเกิดหรือไม่ก็ได้

Advertisement

เมื่อถามว่า ดูแล้วร่างรัฐธรรนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าตนมองว่าน่าจะผ่าน เพราะประชาชนเห็นว่าถึงเวลาแล้วสถานการณ์เรียบร้อยจึงควรจัดให้มีการเลือกตั้ง และ คสช.ยืนยันมาตลอดว่าจะมีการเลือกตั้ง ปี 2560 ทุกอย่างชัดเจนแบบนี้แล้วก็คงมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า เลือกดีกว่าไม่ได้เลือก ส่วนจะทำอย่างไร ก็ให้ผ่านประชามติแล้วว่ากันต่อไป แต่หากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นตามมา ก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่คิดไว้แก้ปัญหาได้ เมื่อถามย้ำว่า จะมีการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วแก้ทีหลังอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ แต่คนที่รณรงค์อย่างนั้นไม่มีส่วนไปแก้การจะไปรณรงค์สามารถทำได้หลายอย่าง

เมื่อถามอีกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังคงยืนยันหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 นายวิษณุกล่าวว่า หัวหน้า คสช.ประกาศเช่นนั้น ตนไม่ทราบว่าท่านจะทำอย่างไร แต่ถ้าไม่แน่ใจ ท่านคงไม่ประกาศเช่นนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่พลั้งปาก ส่วนจะเปลี่ยนแปลงกำหนดดังกล่าวได้หรือไม่ แน่นอนหากมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครมาพูดกับตนกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ วันนี้เราบอกว่าจะเลือกตั้งปี 2560 แต่อย่ามาคาดคั้นว่าถ้ามีสถานการณ์อะไรขึ้นมาแล้วจะเลื่อนอะไรไม่ได้ วันนี้เรายังยึดแนวทางให้มีการเลือกตั้งปี 2560 อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image