ประธานต้านคอร์รัปชั่น การันตี รธน.มีชัย ดีสุดในการปราบปรามทุจริต

“ประมนต์” ชี้ รธน.มีชัย ดีสุดในการปราบปรามทุจริต แนะ ป.ป.ช.แกนนำหลักบูรณาการ กระบวนการยุติธรรม ด้านหมอชูชัย เผย ร่างรธน.ดีเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร ลต.แนะเพิ่ม ยื่นสำเนาแสดงภาษีย้อนหลัง 3 ปี เขียนต่อต้านคอร์รัปชั่นหน้าที่ ปชช. ปธ.ปปช.เปยรับได้ ร่างรธน.นี้ แม้กำหนบกรอบเวลาทำงาน

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น จริงใจหรือไก่กา? ติง ติ เติม เสริมให้เต็ม” โดยมีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา

นายประมนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพยายามผลักดันให้มีกลไกป้องกันทุจริตที่เข้มข้น ตั้งแต่กมธ.ยกร่างฯชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พอร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เราได้เสนอเพิ่มเติมไป ถือว่าได้รับการตอบสนองพอสมควร ยอมรับว่าในร่างรัฐธรรมนูญนายมีชัยมีส่วนดีมาก มีความเข้มข้น แต่ยังมีจุดอ่อนบางอย่าง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปได้น่าจะเป็นฉบับที่ดีที่สุดในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่มีเรื่องที่เราอยากจะเสนอเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นคือ กระบวนการยุติธรรมของไทยในปัจจุบันไม่มีการบูรณาการ ไม่เป็นเนื้อเดียวกันที่จะแก้ปัญหาทุจริต ต่างคนต่างอยู่ เวลามีเรื่องข้ามหน่วยงานจะมีปัญหาระดับหนึ่ง ซึ่งตอนริเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเสนอให้มีมาตรการให้หน่วยงานเหล่านี้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน เวลาปัญหาจะได้ทำความเข้าใจกัน โดยอยากให้ป.ป.ช.เป็นแกนหลักในการประสานหน่วยงานต่างๆ จะได้เป็นระบบ เพื่อลดความล่าช้าและความไม่เข้าใจ

“ข้อดีของรัฐธรรมนูญคือมีความถาวรถ้าไม่มีใครไปฉีก แต่ต่อให้ร่างดีอย่างไรถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่เกิดผล โดยอะไรก็ตามที่เราทำ อย่างการต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องมาจากผู้นำประเทศ ไม่ว่าใครก็ตามมาเป็นนายกฯต้องมีความตั้งใจจริงจัง เพราะถ้ามีกระบวนการต่อต้านการทุจริตจริงจัง ต่อให้ไม่มีกฎหมายพวกนี้ปัญหาก็ลดได้เยอะ และยังคิดว่า รัฐธรรมนูญต้องมีวิธีการที่ทำให้ผู้นำประเทศสำนึกในเรื่องนี้ มีความรับผิดชอบ มีความละอาย ซึ่งถ้าทำไม่ได้ต้องพิจารณาตัวเอง อย่าปล่อยให้คนอื่นมาไล่”นายประมนต์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ชูชัย กล่าวว่า ต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่ตนเห็นว่ากระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐนั้น ร่างของนายมีชัยมีความเข้มข้นเรื่องคุณสมบัติ เพราะใครที่มีประวัติทุจริต ศาลเคยตัดสินว่าประพฤติมิชอบ โกงเลือกตั้ง โดยยึดทรัพย์ เคยถูกปลดออก ไล่ออก หมดสิทธิ์หมด ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขอเพิ่มส่วนที่สำคัญคือ ตอนสมัครรับเลือกตั้ง เวลายื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เขาจะต้องยื่นแบบสำเนาเอกสารแสดงภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3ปีควบคู่ไปด้วย ซึ่งร่างของนายบวรศักดิ์มีเรื่องนี้ จึงเชื่อว่าถ้ากำหนดไว้แบบนี้จะมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยอาจจะถอย เพราะเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วถ้ามีการตรวจสอบแล้วเกิดแจ้งเท็จหรือไม่สอดคล้องขึ้นมา อธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ จะพ้นจากตำแหน่งทันที หมดอนาคตทางการเมือง แล้วอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่มีในร่างของนายมีชัยคือ การตั้งกมธ.ต่อต้านคอร์รัปชั่นตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน โดยมีฝ่ายค้านเป็นประธานกมธ.

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ที่อยากให้เพิ่มเติมคือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ 4 หน่วยงานคือ ปปช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับป.ป.ช.ตนคิดว่า นักการเมืองท้องถิ่นถ้าต้องเปิดเผยภาษีเงินได้จะมีจำนวนเยอะมาก จะเป็นภาระหนักของป.ป.ช. เมื่อเป็นอย่างนี้ควรโยนให้ป.ป.ท. ส่วนป.ป.ท.เองควรจะต้องเป็นอิสระเหมือนกับป.ป.ช. โดยทำงานคู่ขนานกันไป ซึ่งทำให้กลไกต่อค้านคอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่สตง. ที่ผ่านมาเวลาเตือนเรื่องความเสียหายจากการใช้งบประมาณไปยังภาครัฐ มักพบว่าเขาไม่ฟัง เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ ดังนั้น อยากให้กรธ.เขียนให้ผู้ว่าสตง. โดยเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือป.ป.ช. เมื่อตรวจพบความเสียหายสามารถยื่นต่อศาลปกครองได้ และศาลต้องดำเนินการโดยไม่ชักช้า และเมื่อชี้มูลต้องหยุดนโยบายที่เอาเงินแผ่นดินไปใช้ทันที ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ คิดว่าไม่มีไม่ได้ สำคัญมาก ขอความกรุณานายมีชัยให้รับฟังตรงนี้

นพ.ชูชัย กล่าวว่า กรณีพิธีกรชื่อดัง ถ้าองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น สื่อ โซเชียลมีเดียไม่เรียกร้อง คงเอาไม่อยู่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติให้เอื้อต่อสังคม ทำให้สังคมเข้มแข็ง ต้องเขียนในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยข้อนึงว่า “ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ในการป้องกัน ต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งเป็นผู้เสียหาย” ซึ่งการเป็นผู้เสียหายเวลาไปร้องศาลปกครองๆ จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นผู้เสียหาย และต้องเพิ่มในหน้าที่ของรัฐว่า ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการกระบวนการเรียนรู้หรือสร้างความเป็นพลเมือง อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุดจริงหรือไม่ แต่คิดว่าอย่างน้อยจะดีที่สุดถ้ารับข้อเสนอจากวงเสวนาครั้งนี้ไปพิจารณา

Advertisement

นายบดินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สรุปได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น และกีดกันนักการเมืองที่ทุจริต ถือว่าดีที่สุดเท่าที่เรามีในประวัติศาสตร์ ตนมีความหวังมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สำคัญที่สุดคือ ที่ห้ามนักการเมืองที่มีประวัติทุจริตจะเข้ามาไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการเพิ่มมาจำนวนมาก ตนเชื่อว่าจะป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ยังไม่มีกลไกปกป้องข้าราชการเพียงพอ ซึ่งข้าราชการประจำที่น่าสงสารที่สุด เพราะถ้าฝ่ายการเมืองสั่งมา ข้าราชการไม่ทำก็ตาย หรือถ้าทำวันหนึ่งก็อาจจะตาย สำหรับตนพอใจในร่างปัจจุบัน แต่ถ้าเติมส่วนนี้เข้าไปอีกได้ก็จะดี

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ที่มีการพูดในสังคมว่าต่อให้เขียนกฎหมายดีอย่างไรถ้าการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่แน่นอน ไม่รวดเร็ว ความรุนแรงของกฎหมายก็ไม่มีผลในการป้องกันและปราบปราม ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันกระบวนการดำเนินการค่อนข้างจะล่าช้า จนกระทั่งมีประเด็นในกรอบร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาตอนแรกว่ามีการบัญญัติกำหนดระยะเวลาการทำงานของหน่วยที่ทำหน้าที่ไต่สวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตนคิดว่าต่อให้ไม่มีกฎหมายกำหนด เราก็มองว่าต้องมีกรอบเวลา อย่างคดีเล็ก 1 ปีต้องได้คำตอบ ถ้าไม่ได้ต้องมาดูว่าเพราะเหตุใด ตนไม่ได้ขัดข้องที่มีกระแสว่าจะมีกรอบเวลา 20 เดือน เพียงแต่ให้มีช่องทางว่าบางกรณีถ้าเกิดข้อขัดข้องในการรวบรวมพยานหลักฐาน กระทบคนจำนวนมาก อาจต้องใช้เวลามากขึ้น สำหรับป.ป.ช.รับได้อยู่แล้วกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และรู้สึกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการทำงานของเราก็ชัดเจนขึ้น การบังคับใช้กฎหมายจะชัดเจนขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image