09.00 INDEX “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉลุย” ความมั่นใจ จาก นายวิษณุ เครืองาม

พลันที่ท่าทีจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยืนหยัดในหลักการ “พบกันครึ่งทาง” ในการปรับแก้ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ

มีความมั่นใจเป็นอย่างสูงจาก นายวิษณุ เครืองาม

“ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านประชามติเพราะประชาชนเห็นว่าถึงเวลาแล้ว สถานการณ์เรียบร้อยจึงควรจัดให้มีการเลือกตั้ง”

เหมือนกับเป็นการมองผ่าน “ประชาชน”

Advertisement

มองว่าประชาชนเห็นว่า “สถานการณ์” เรียบร้อย มองว่าเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะต้องมี “การเลือกตั้ง”

อะไรคือ “ฐาน” แห่ง “ความมั่นใจ”

ฐาน 1 มาจากคำประกาศในลักษณะยืนหยัดและมั่นคงเป็นอย่างมากอันมาจากคสช.

นั่นก็คือ ต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560

ขณะเดียวกัน ฐาน 1 มาจาก “ทุกอย่างชัดเจนแบบนี้แล้วคงมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าเลือกดีกว่าไม่ได้เลือก”

คน “จำนวนหนึ่ง”นั้น “อ่าน”จากไหน

หากพิจารณาจากประสบการณ์และความจัดเจนทางการเมืองของ นายวิษณุ เครืองาม

คน “จำนวนหนึ่ง”ที่ว่าน่าจะเป็น “นักเลือกตั้ง”

และแน่นอน “นักเลือกตั้ง” ในที่นี้มิได้หมายเพียงที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ หากหมายรวมไปยัง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคกระแสชล

และเป็น “บางส่วน” ของ “พรรคเพื่อไทย”

แม้แกนนำอย่าง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง อย่าง นายวัฒนา เมืองสุข อย่าง นายอำนวย คลังผา แสดงออกอย่างเด่นชัดว่าไม่เอา”ร่าง”รัฐธรรมนูญนี้แน่นอน

แต่อย่าลืมว่าภายในพรรคเพื่อไทยยังมี “คนอื่น” อยู่

เช่นเดียวกัน แม้แกนนำอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อย่าง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ แสดงออกอย่างเด่นชัดว่าไม่เอา”ร่าง”รัฐธรรมนูญนี้แน่นอน

แต่อย่าลืมว่าภายในนปช. ภายในคนเสื้อแดงยังมี “คนอื่น”อยู่

“คนอื่น” อันถือว่าเป็นนักการเมืองประเภท “นักเลือกตั้ง” ย่อมหายใจเข้า หายใจออกเป็น “การเลือกตั้ง”

จึง “มั่นใจ” ว่าประชามติต้อง “ผ่าน”

ท่าทีและการแสดงออกของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ มีความแตกต่างกัน

พรรคเพื่อไทย “ต้าน”อย่างชนิดหัวชนฝา

ไม่ว่าแถลงการณ์หลังวันที่ 29 มกราคม ไม่ว่าแถลงการณ์หลังวันที่ 29 มีนาคม น่าจะออกในแนวเดิม-เดิม

นั่นก็คือ ไม่ยอมรับ”ร่าง”รัฐธรรมนูญ

แต่พรรคประชาธิปัตย์มิได้ยืนกระต่ายขาเดียวในแบบพรรคเพื่อไทย ตรงกันข้าม แสดงออกในแบบที่เรียกกันว่า

“แทงกั๊ก”

หากฟัง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ หากฟัง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อาจรุนแรง อาจแข็งกร้าว

แต่ 2 คนนี้เสมอเป็นเพียง “รองหัวหน้าพรรค”

เหนือ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ยังมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหนือ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ยังมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

“อำนาจนำ” ยังเป็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“อำนาจนำ” ยังเป็นของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศ “วางมือ” ไม่ต้องการมีตำแหน่งใดๆในทาง การเมือง  ยิ่งทำให้ “อำนาจนำ” ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แข็งแกร่งและมั่นคง

พรรคประชาธิปัตย์ทำให้ นายวิษณุ เครืองาม มั่นใจ

ขณะเดียวกัน ความไม่เป็นเอกภาพภายใน “นักเลือกตั้ง” ยิ่งทำให้ นายวิษณุ เครืองาม มากด้วยความมั่นใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image