หมอเหวงชำแหละร่างรธน.ฉบับกรธ. คล้ายคลึงกับรธน.ปี’21 แต่อิทธิฤทธิ์ร้ายแรงกว่า

แฟ้มภาพ นพ. เหวง โตจิราการ

หมอเหวงชี้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญกรธ.คล้ายคลึงกับ’รัฐธรรมนูญฉบับ2521’แต่มีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงกว่า

นายเเพทย์เหวง โตจิราการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย และรับข้อเสนอบางส่วน โดยระบุว่า กรธ.ได้ข้อสรุปสุดท้ายแล้ว ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.มีเนื้อหาสำคัญดังนี้

1.มี ส.ว.สรรหาหรือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

(โดยมาจาก คสช.จำนวน 5% และจากกรรมการสรรหา 8-10 คนสรรหากันมารวม 200 จาก 20 กลุ่มอาชีพเลือกไขว้ 50)

Advertisement

ซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยปวงชนชาวไทยอย่างน้อย 7 ด้านด้วยกัน (เช่น พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติกฎหมาย, พิจารณาอนุมัติงบประมาณ, รับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาล, อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ, ร่วมประชุมฟังแถลงนโยบายรัฐบาล, แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งห้า และประชุมร่วมรัฐสภาอีก15ภาระกิจสำคัญ)
คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ2521

2.เลือก ส.ส.โดยใช้ระบบ “จัดสรรปันส่วนแบบผสม” ซึ่งเป็นการทำลายอำนาจอธิปไตยทางการเมืองในการเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศลงไป และปิดกั้นโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลน้อยพรรคได้ แต่เปิดโอกาสให้เกิดสภาจับฉ่าย สารพัดพรรคการเมืองเดินหน้าเข้าสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐบาลเบี้ยหัวแหลกหัวแตก จัดตั้งรัฐบาลได้ลำบาก อาจจะมีรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ และเปิดโอกาสให้กลุ่มที่มีพลังทางการเมืองแข็งแกร่ง (กลุ่มทหารที่มีอำนาจ) ได้รับเชิญเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

3.เปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก

(แม้จะเขียนไว้ให้ซับซ้อน แต่ความจริงตั้งใจที่จะเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกชัดเจนจากการเลือกส.ส.แบบ “จัดสรรปันส่วนแบบผสม” ฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบันย่อมสามารถดำเนินการจนได้มา ซึ่ง ส.ส.เกินกว่าครึ่งหรือ 251คน การเปิดประชุมรัฐสภาจึงทำได้ไม่ยาก และโหวตยกเว้นมาตราเกี่ยวกับการเลือกนายกฯของรัฐธรรมนูญเพราะมี ส.ว.สรรหาแต่งตั้งถึง 250 แล้วรวมกับ ส.ส.สารพัดพรรค 251 เป็น 501 เกิน2/3 แล้วก็เลือกนายกฯคนนอกจากสภาผู้แทนที่ใช้เสียง 251 ก็เป็นไปได้อย่างไม่ลำบาก จากนั้นพวกเขาก็โหวตเอาคนนอกที่ทรงอิทธิพลมาเป็นนายกรัฐมนตรี)

คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ 2521 ที่เปิดทางให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่คนนอกที่มีทหารหนุนหลังมาเป็นนายกรัฐมนตรี

4.ส.ว.สรรหาหรือแต่งตั้ง มีอำนาจมากที่สุดเหนือองค์กรการเมืองอื่นตามร่าง รธน.ของ กรธ.เพราะมีหน้าที่1.ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2.ในการดำเนินการปฏิรูป และ 3.ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม้จะพยายามอธิบายว่า ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจลงคะแนนไม่ไว้วางใจก็ตาม อำนาจทั้งสามประการ ทรงมหิทธานุภาพไปมากกว่าสองเรื่องดังกล่าวเป็นไหนๆ เพราะครอบงำประเทศและประชาชนไทยไปยาวนานไม่รู้จบสิ้นทีเดียว

5.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งห้า มีอำนาจครอบงำเหนือรัฐบาลรัฐสภา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองคาพยพของการบริหารราชการแผ่นดินอย่างล้นเหลือ และภายหลังจากการวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดของทั้งหกองค์กรดังกล่าวแล้ว ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด จะถูกพิพากษา “ประหารชีวิตทางการเมือง” หรือตายทางการเมืองไปในทันที ซึ่งเป็นการทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงที่สุด เพราะมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง ดังนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่โดยถูกสังหารทางการเมืองแล้วจะมีความภาคภูมิใจในฐานะมนุษย์อยู่ต่อไปได้อย่างไร

6.เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้เลย เพราะ

1.เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบต้องเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปไมได้
2.เรียกร้องให้มี ส.ว.สรรหาหรือแต่งตั้งจำนวนอย่างน้อย 1/3 ต้องเห็นด้วยซึ่งเป็นไปไม่ได้
3.ในบางหมวดบางมาตราต้องนำไปทำประชามติเสียก่อน ซึ่ง รธน.50 เป็นแม่แบบไว้แล้ว ว่าเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับ รธน.ห้ามทำประชามติและคะแนนเสียงสนับสนุนต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
4.และหากแม้ว่าผ่านประชามติ(ซึ่งดังกล่าวแล้วว่าเป็นไปไม่ได้)ยังเขียนปิดกั้นอีกว่า ผู้ที่เห็นว่าการแก้ไขขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากพวกเขาเพื่อ

วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วจึงมาดำเนินการต่อ ยิ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ผมจึงไม่รับร่าง รธน.ของ กรธ. หรือของ คสช.ฉบับนี้ครับ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image