“พรเพชร” ยังกลัว กม.ส.ว.โดนคว่ำ ย้ำ กรธ.-กมธ.คุยให้เคลียร์

นายพรเพชร วิชิตชลชัย

“พรเพชร” ยังกลัว กม.ส.ว.โดนคว่ำ ย้ำ กรธ.-กมธ.คุยให้เคลียร์ ขู่นักการเมืองอยากยกเลิกไพรมารีโหวตก็ทำได้ แต่นานกว่า 90 วัน เพราะต้องแก้ กม.พรรคการเมือง ชี้อำนาจปลดล็อกเป็นของ คสช. เผยคุยทูตสหรัฐเข้าใจสถานการณ์ดี ท้าคอยดูสิ่งที่ สนช.ทำในอนาคตจะเห็นว่ามีแต่ความห่วงใย

เมื่อเวลา 11.05 น. เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สนช.ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า สนช.ได้ตอบคำถามในการอภิปรายในวาระ 2 และ 3 แล้ว ซึ่งตนเป็นคนมีหลักการคือ พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญในระบบประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรมพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญ โดยพรรคการเมืองต้องสามารถเดินหน้าตามนโยบายของพรรคการเมืองได้อย่างเต็มที่ เพื่อส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องที่มีพรรคการเมืองบางพรรคออกมาระบุว่า ให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า พรรคการเมืองอ้างว่าจะทำไพรมารีโหวตไม่ทัน ตนมองเห็นปัญหาว่าหากปล่อยไปอาจเกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง วันนี้ยังมีการเรียกร้องว่าไม่จำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน แต่ให้ปลดล็อกพรรคการเมือง หรือไม่ต้องทำไพรมารีโหวตดีกว่า แต่ตนไม่มีอำนาจในการปลดล็อก เพราะอำนาจเป็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ถ้าพรรคการเมืองจะบอกว่าไม่ต้องทำไพรมารีโหวต ตนเห็นด้วยก็ได้ แต่การยกเลิกไพรมารีโหวตนั้น ต้องแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้ไปแล้ว ถามว่าสนช.มีสิทธิแก้ได้หรือไม่ ตามหลักแล้วสามารถแก้ได้ แต่ต้องมีกระบวนการแก้ไขกฎหมายยาวกว่า 90 วันอย่างแน่นอน เพราะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน พรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง

“อยากเลิกไพรมารีโหวต สนช.ทำไม่ได้ พรเพชรก็ทำไม่ได้ เราจึงเห็นว่าวิธีการบังคับใช้กฎหมาย ส.ส.ออกไปอีก 90 วันนี้เป็นวิธีการที่ช่วยพรรคการเมืองได้ และสามารถให้ คสช. รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเงื่อนเวลาทำงานเท่ากันกับพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ ทุกฝ่ายได้ทำตามกฎกติกาได้อย่างเรียบร้อยและถูกต้อง ที่ผมได้ยินมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่บอกว่า ทำไพรมารีโหวตไม่ทันแล้วให้ยกเลิก แต่ถ้ามันถึงทางตันขึ้นมา จะว่าอย่างไร ตอบผมมาก็แล้วกัน เสียงส่วนใหญ่ หรือ เสียงส่วนน้อยของพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งการเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไปนิดหน่อย ผมก็เห็นว่าหลายฝ่ายยังมีความขัดแย้งกับ คสช.อยู่ แต่ความขัดแย้งในเวลา 90 วันนี้ ถ้าเทียบกับความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ ถือว่าเป็นความขัดแย้งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” นายพรเพชรกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการอ้างเลื่อนเลือกตั้ง 90 วันเพื่อให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตได้ทัน แต่ความจริงแล้วปัญหาอยู่ที่การไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองมากกว่า นายพรเพชรกล่าวว่า ตนขอท้าให้ไปดูว่าเมื่อพรรคการเมืองเขาพิจารณาข้อ 8 ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 แล้วเขาจะทำอย่างไร เพราะคำสั่งออกมาบังคับใช้แล้ว ตนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ ตนทำได้แค่อธิบายหลักการของตนเอง และเมื่อเวลาผ่านไปขอให้คอยดูสิ่งที่ตนทำ จะเห็นว่าตนทำด้วยความห่วงใยในการเดินหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตย วันนี้ตนยอมรับในสิ่งที่วิจารณ์ แต่ขอให้ไปดูวันข้างหน้าบันทึกไว้ให้หมดวันนี้สิ่งที่ตนทำแล้ว วันข้างหน้าค่อยมาดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็แล้วกัน

เมื่อถามถึงมุมมองความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติในเรื่องการเลือกตั้งนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า ตนได้คุยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแล้ว โดยได้อธิบายทั้งหมด ซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นความลับ เพราะก็อธิบายคล้ายๆ กับที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่สหรัฐจะคิดอย่างไร ตนไปตอบแทนเขาไม่ได้ แต่พูดได้แค่ว่าจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อไขปัญหานี้ ซึ่งในส่วนของนายกรัฐมนตรีท่านก็ไม่ได้มาสั่งอะไรไว้
นายพรเพชรยังกล่าวถึง พ.ร.ป.ได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีความเป็นห่วงว่าการแบ่งประเภทผู้สมัครเป็น 2 ประเภท อาจจะขัดรัฐธรรมนูญว่า เรื่อง ส.ว.ตนยังสงสัยและไม่สามารถตอบได้เพราะการเปลี่ยนแปลงมีเยอะ ดังนั้นตนของรอฟัง กรธ.และคณะกรรมาธิการฯก่อน ซึ่งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญนั้นมีคนออกมาพูดเยอะ แต่ตนไม่ใช่ผู้วินิจฉัย เพราะผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า มีการมองว่ากลัวจะไปถึงขั้นคว่ำกฎหมาย นายพรเพชรกล่าวว่า “ผมก็กลัว ถึงบอกว่าให้กรรมาธิการฯกับ กรธ.ไปคุยกันดีๆ แต่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ความจริงเขาต้องคุยกันให้เคลียร์”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image