INDEX แนวทาง ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต สถานการณ์ ประชามติ รัฐธรรมนูญ

หากไม่นำเอาหลักการ “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต” ของสำนักพิมพ์มติชน มาเป็น”อาวุธ” มาเป็น “เครื่องมือ”
ก็อาจจะไม่เข้าใจ “สถานการณ์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ในทาง “การเมือง” สถานการณ์อันสัมพันธ์กับ”รัฐธรรมนูญ”
นั่นก็คือ ประเด็นของ “ประชามติ”
หากฟังเสียงจากคสช. หากฟังเสียงจากรัฐบาล ล้วนมี “ความมั่นใจ”เป็นอย่างสูงว่า”ร่าง”รัฐธรรมนูญจะต้องผ่าน”ประชามติ”แน่นอน
ถึงไม่บอกว่า”ฉลุย” ก็น่าจะ”ฉลุย”
ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจของ นายวิษณุ เครืองาม
1 มั่นใจว่า “ประชาชน” อยาก “เลือกตั้ง”
1 มั่นใจว่าพรรคการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักการเมือง” ล้วนอยาก “เลือกตั้ง” เร็วๆ
เพราะ “เลือกตั้ง” เท่ากับเป็น “โอกาส”
เมื่อนักการเมืองอยาก”เลือกตั้ง” เมื่อพรรคการเมืองอยาก”เลือกตั้ง”ก็ย่อมจะหาทางทำให้ประชามติ “ผ่าน”
หาก “สมมติฐาน”นี้เป็น “จริง”
นั่นหมายความว่าความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
ไม่มี “ความหมาย”
นั่นหมายความว่าความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง ความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ไม่มี “ความหมาย”
นั่นหมายความว่าความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ความหงุดหงิด ไม่พอใจอันมาจาก นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ
ไม่มี “ความหมาย”
หากมองบนพื้นฐานที่ว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อดีต” แนวโน้มและความเป็นไปได้ย่อมจะเป็นเช่นนั้น
ขณะเดียวกัน หากมองบนพื้นฐานที่ว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต” แนวโน้มและความเป็นไปได้จะไม่เป็นเช่นนั้น
ทำท่าว่า “ประชามติ” อาจ “ไม่ผ่าน”

บทสรุปที่ว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองอยากให้มี “การเลือกตั้ง”เร็วๆอาจเป็นความจริง
เป็นความจริงใน “อดีต”
เป็นความจริงแม้กระทั่งภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ด้วยซ้ำไป
หรือแม้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก็เป็นเช่นนั้น
นั่นก์คือ พรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประ ชาธิปัตย์ ล้วนฝากความหวังไว้กับ “การเลือกตั้ง”
ความหวังจาก”อดีต” เช่นนี้อาจยังดำรงคงอยู่
ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังชล หรือแม้กระทั่งภายในพรรคเพื่อไทย
ก็ยังมี”ความหวัง”จาก”อดีต”เช่นนี้อยู่
แต่เมื่อผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์อำนาจโดย”คสช.”อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง
“ความหวัง” จาก”อดีต”นี้จะยังสุกใส เรืองรองอยู่อีกหรือ
หากยังเชื่อมั่นอยู่บนพื้นฐานแห่ง “อดีต” เช่นนี้ “อนาคต” ของพรรคการเมือง อนาคตของนักการเมืองจะเป็นเช่นไร
ก็พอจะมองออก
ตรงนี้แหละที่หลักการ “ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต”จะทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image