สาระ-บันเทิง กับขบวนจุฬาฯ-มธ. แค่ “ล้อ” ไม่ใช่ “ด่า”

บรรยากาศงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติน่าบันทึกไว้

การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์

ภายใต้คำขวัญ Our Rise ปลุกสปิริตให้สังคม

และเหมือนเช่นทุกปี การแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งเข้าร่วม

Advertisement

ในช่วงต้นที่ขบวนจากจุฬาฯและธรรมศาสตร์เดินเข้าสู่สนาม ผู้จัดตั้งใจให้เกิดความสมัครสมาน จึงให้จุฬาฯและธรรมศาสตร์เดินคู่กันลงมา

ไฮไลต์ของช่วงนี้ มี อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม กับ น้องก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ ศิษย์จุฬาฯร่วมเดินด้วย สร้างความฮือฮาไม่ใช่น้อย

ตูน บอดี้สแลม เป็นศิษย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนก้อยนั้นสำเร็จการศึกษาที่คณะนิเทศฯ

Advertisement

ส่วนศิษย์เก่าก็มากันหลากหลาย ทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริ, นายเจษฎ์ โทณะวณิก, มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ, หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ เป็นต้น

บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยความคึกคัก สนุกสนาน และสามัคคี

ต่อมาขบวนที่กลายเป็นข่าวมาก่อนหน้าว่า คสช.เข้มงวดกวดขัน ถึงกับมีข่าวว่ามีคำขอห้ามบางประการก็ปรากฏ

นั่นคือ ขบวนล้อการเมือง ซึ่งเป็นขบวนที่นิสิตนักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นต่อสังคม

สะท้อนสังคม และสะท้อนการเมืองด้วย

ขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีนี้เคยกลายเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อปีก่อนๆ เพราะ คสช.กังวล

แต่สำหรับปีนี้ คสช.ประกาศแล้วว่า ไม่ปิดกั้น แต่ก็ยังมีกระแสข่าวเล็ดลอดว่า “ขออย่าให้หุ่นใส่นาฬิกา”

จึงกลายเป็นที่สนใจจับตามอง และกลายเป็นไฮไลต์อีกหนึ่งช่วงงานบอลประพณีฯ

เมื่อขบวนศิษย์เก่าผ่านพ้น ขบวนศิษย์ปัจจุบันซึ่งล้อการเมืองก็ตามติด

เวลา 14.00 น. ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาฯเริ่มทยอยเข้าสู่พื้นที่ ปีนี้จุฬาฯได้ทำหุ่นสะท้อนสังคม โดยหุ่น 3 ตัวแรก

หุ่นตัวแรก ชื่อ สถาบันครอบครัว 4.0 แสดงให้เห็นเด็กไทยที่ต้องแบกรับภาระเต็ม 2 บ่า และต้องแข่งขันในทุกด้าน

เด็กไทยที่กลายเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ครอบครัวควรจะเป็นสถาบันที่เป็นพื้นฐานที่สุด

เป็นสถาบันที่ให้ความรักและความอบอุ่นต่อเด็ก กลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนมาทำร้ายเด็ก

มันถูกไหม? ที่ไม่ยอมฟังเด็ก ปิดกั้นเสรีภาพของพวกเขา ไม่ปล่อยให้เขาแสดงความสร้างสรรค์

หุ่นตัวที่สอง ชื่อ การศึกษา 4.0 สะท้อนถึงระบบการศึกษาที่สอนเด็กให้ท่องจำ

การศึกษาไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้

หุ่นตัวที่สาม ชื่อ สังคม 4.0 ประเทศไทยที่เคยอยู่ในระดับนำของเอเชีย สิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยกลายเป็นประเทศลำดับที่เท่าไหร่

ประเทศที่มีอนาคตอย่างไทย ถูกพายุวิกฤตทางการเมืองโหมกระหน่ำใส่ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทำให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ไปไม่ถึงไหน แม้จะเปลี่ยนผู้นำไปแล้วไม่รู้กี่คน

ปัจจุบันประชาชนเริ่มหมดหวัง และหันหลังให้ข่าวสารการเมือง

ขณะนี้ประเทศไทยวางยุทธศาสตร์ 4.0 แต่เราเคยรู้ไหมว่า ผู้นำจะนำพาให้พวกเราไปยังทิศทางไหน

ระหว่างที่ขบวนนี้เดินผ่าน สแตนเชียร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แปรอักษร “ระวังโดนซ่อม”

แหะ แหะ จุฬาฯวิจารณ์ ธรรมศาสตร์แซว

ขณะที่พิธีกรก็ไม่ธรรมดา แซวกลับไปว่า

“ถึงผมจะโดนซ่อม แต่ผมก็ไม่ตาย”

สุดท้ายขบวนจากจุฬาฯ ยังมีหุ่นการเมืองแถมให้

หุ่นแต่งตัวเป็นชายใส่เสื้อฮาวาย มีเครื่องบินอยู่โดยรอบ และมีเหล่านิสิตถูกโซ่ตรวนล่ามไว้

มีป้ายผ้าสีดำเขียนว่า “ห้ามล้อนาฬิกาเข้มบอลประเพณี ทำหุ่นคล้ายผู้นำไม่ได้ นิสิตโวยโดนเซ็นเซอร์ มีต่อหน้า 15”

ส่วนพิธีกรก็บอกว่า นิสิตเดินผ่านหน้าถือผ้าไปเฉยๆ ไม่ได้ล้อนาฬิกาแต่อย่างใด

ใครติดตามดูคงรู้สึกขำ

ต่อมาขบวนของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีหุ่น 5 ตัว

หุ่นตัวแรกที่เดินออกมาก็ฮือฮา หุ่นที่ปรากฏตรงหน้าคือ “นนทก” การใช้อำนาจเกินขอบเขตจนสุดท้ายกลับมาทำร้ายตัวเอง

ป้ายผ้าเบื้องล่างเขียนข้อความอธิบาย

“ยักษ์นนทก มีนิ้วเพชร เด็ด GG

นิ้วเพชรชี้ มีอำนาจ วาสนา

ได้เทพช่วย จนยิ่งใหญ่ เหนือเทวา

แต่กลับบ้า สุดท้ายซี้ ชี้ตนเอง”

พิธีกรบอกว่า หลีกเลี่ยงพูดเรื่องนาฬิกา แต่ขอให้อ่านแล้วกลับไปคิด

ตั้งใจให้ใครคิดมิได้บอก

สังเกตได้อีกว่าที่ข้อมือด้านซ้ายของหุ่นยักษ์ เขียนข้อความว่า “คืนเพื่อนแล้ว” (ฮา)

ส่วนด้านหลังเป็นการสักยันต์ 5 แถวที่มีข้อความว่า แต่ผมไม่ตาย

หุ่นตัวที่ 2 ตราช่าง ต้องการถ่ายทอดถึงการใช้งบประมาณ เปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลกับกองทัพ

มีข้อความป้ายผ้า ระบุว่า

“ปีสุดท้าย จะออกไป แตะขอบฟ้า กายาหอบ

รัฐไม่ตอบ กอบโกยหนี ภาษีฉัน

ฯพณฯท่าน แกล้งกลับกลอก แบ่งเค้กกัน

ช้อปปิ้งมันส์ ทุกกรมกอง ไม่มองคน”

หุ่นตัวที่ 3 หุ่นลูกโลก ว่าด้วยระบบภาษีและความเหลื่อมล้ำในสังคม นับวันคนรวยจะได้เปรียบ สะสมความมั่งคั่ง กำลังครอบงำประเทศ

เจตนาการทำหุ่นตัวนี้ถ่ายทอดออกมาด้วยข้อความ

“หลายเจ้าสัวกินรวบ ควบค่อนชาติ ประชาชาด ที่กินนอน ต้องผ่อนเช่า ช่วยกันเอื้อ รวยไม่หยุด สุดบรรเทาประชารัฐ เจี๊ยะแต่เขา รีดเราจุง”

หุ่นตัวที่ 4 หุ่นรถไฟ ว่าด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย

ที่ “หลายโครงการ เร่งสร้างอยู่ หูว!ไวจัง เป็นลำพัง เรื่องที่ยัง พอกู้หน้า อย่าคิดโกง ขืนขยับ ถูกจับตา แต่สร้างมา ม.44 ช่วยชี้นำ”

มีแซวกันเรื่อง ม.44 ที่จะใช้กันเมื่อยามจำเป็น

หุ่นตัวที่ 5 เป็น หุ่นรัฐธรรมนูญ ด้านล่างมีหุ่นยักษ์ 4 ตัวอยู่รอบๆ พาน ด้านบนมีรัฐธรรมนูญ

พอขบวนหุ่นที่ 5 เคลื่อนมาถึงด้านประธาน มีการปูพรมแดงแล้ววางหุ่นลง

จากนั้นรัฐธรรมนูญด้านบนพานก็ถูกกระชากออก ภายในกลายเป็นหัวยักษ์ (ฮาอีกรอบ)

พิธีกรก็ไม่ธรรมดา อธิบายความบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราต้องแบกหาม แล้ววกกลับมาบอกว่า เอาแค่เลือกตั้ง

จะเลือกกันเมื่อไหร่ยังไม่ทราบเลย

ส่วนป้ายผ้าก็มีข้อความ “เรื่องยักษ์นี้ มีอีกเรื่อง เคืองใจนัก สุมหัวผลัก ผลผลิต ดูแสลง ออกกฎยักษ์ หลักไม่ดู ปูพรมแดง หวังตะแบง แกล้งไม่รู้ หูทวนลม”

ทุกอย่างผ่านพ้นไป ปีนี้ คสช.ไม่เข้มงวด นิสิตนักศึกษาได้สะท้อนภาพสังคมในมุมมองของพวกเขาออกมา

ถ้าดูให้บันเทิงก็สนุก ถ้าดูให้ได้สาระก็น่านำมาคิด

บรรยากาศที่เกิดขึ้นคือความสนุกจากงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72

และขบวนไอเดียนิสิตนักศึกษา

ที่ “ล้อการเมือง” ที่ไม่ใช่ “ด่าการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image