อ่านอีกครั้ง! “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ชนวนสำคัญ ไล่ “จอมพลถนอม กิตติขจร”

กรณี เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน เข้าไปท่องเที่ยว ล่าสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งกำลังเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในขณะนี้ ทำให้นึกถึง”บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2516
ว่าแล้วก็พลิกหนังสือ “บันทึกลับทุ่งใหญ่” กลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนเป็น “บันทึกลับทุ่งใหญ่”
หนังสือเขย่ารัฐบาล “เผด็จการ”

ยอดพิมพ์ 5,000 เล่ม ยืนขายหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยง จนต้องพิมพ์เพิ่มอี 2 แสนเล่ม และก็ขายหมดในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ คือ สถิติอันน่าทึ่งของ หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ผลงานที่ร่วมกันจัดทำขึ้นของกลุ่มนักศึกษา 4 สถาบัน อันได้แก่ มหิดล เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทราบว่ามี นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงพลเรือน ที่เรียกกันว่า “พรานบรรดาศักดิ์” นำพาหนะ อาวุธยุทโธปกรณ์ราชการไปตั้งค่าย ล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ต่อเนื่องเรื่อยมา อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

จนต้นเดือน เมษายน พ.ศ. 2516 หลังทราบข่าวการซื้ออาวุธปืน และกระสุนชุดใหญ่ เพื่อเตรียมล่าครั้งใหม่ กลุ่มนักศึกษา และนักข่าวส่วนหนึ่งเดินทางเข้าป่าเพื่อเปิดโปงเรื่องนี้ ได้ตามแกะรอยกลุ่ม “พรานบรรดาศักดิ์” พบซากสัตว์ป่าที่ถูกล่า รวมถึงได้เผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้ ที่ไม่มีท่าทีรู้สึกผิด และไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง

Advertisement

ซึ่งหลังการจุดพลุเฉลิมฉลองการล่าสัตว์ กินดื่มอย่างสนุกสนาน แล้วเดินทางกลับ ก็เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ ตกในพื้นที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 มีผู้เสียชีวิต 6 คน ขณะที่โดยรอบ ซากสัตว์ป่าที่ถูกล่ากระจายเกลื่อน ทั้งนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นออกมาระบุว่า ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปราชการลับ

แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสสังคมที่ไม่พอใจ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก จนต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบ และสุดท้ายผลสอบ ก็ออกมาว่า การนำเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงอาวุธต่างๆไปใช้นี้เป็นการ “ไปราชการลับ” จริง โดยใช้ป่าทุ่งใหญ่เป็นฐาน แต่ภาระกิจลับนั้นอยู่ลึกเข้าไปติดชายแดนพม่า

Advertisement

ผลสอบค้านกับหลักฐานที่บรรดานักศึกษา นักข่าวไปพบเจอนี้เอง ที่ทำให้สุดท้าย กลุ่มนักศึกษาจึงตัดสินใจพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกมาช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2516 จนเกิดปรากฏการณ์ยอดขายถล่มทลาย และสุดท้ายก็เป็นอีกหนึ่งชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อเนื่อง กระทั้งสุดท้ายก็เกิดเป็นเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ที่เป็นการปิดฉากยุค “เผด็จการทหาร” นั่นเอง

โปรดพลิกอ่านกันอีกครั้ง
มีอะไรใน “บันทึกลับทุ่งใหญ่”

สำหรับรายละเอียดในหนังสือ “บันทึกลับทุ่งใหญ่” น่าสะเทือนใจตั้งแต่ภาพปก ซึ่งเป็นรูปวาดช้างนอนตาย มีใบบัวเล็กๆ ปิด ขณะที่ข้อความอันเป็นชื่อหนังสือนั้น เป็นลายมืออันแสนซื่อบริสุทธิ์ของเด็กนักเรียนหญิง ป.1

จากนั้นต่อด้วย แถลงการณ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรื่อง “กรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ นเรศวร” และ แถลงการณ์คณะนิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ที่ได้ไปพบเห็นกลุ่ม “พรานบรรดาศักดิ์” จนนำมาเปิดโปงในหนังสือเล่มนี้

สำหรับบทความแรก เริ่มต้นด้วยเรื่อง “ทุ่งใหญ่นเรศวร” โดย รัตน์ ที่ฉายภาพให้เห็นความสำคัญของผืนป่าตะวันตก ความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางธรรมชาติ ต่อด้วย “๘ ปีมาแล้วที่ทุ่งใหญ่” โดยผู้เขียน พงษ์ชาติ ที่ยกเอาบทวามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้รายหนึ่งมาเขียนถึง ว่า 8 ปีที่แล้วเคยเจอรถจิ๊บทหาร คนมีสี เข้าไปล่าสัตว์ แสดงว่ามีการเข้าป่าล่าสัตว์โดยกลุ่มอิทธิพลมานานแล้ว ( คือ 8 ปี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ในปี พ.ศ.2516)

แล้วก็ต่อด้วยการให้ภาพ “ทุ่งใหญ่นเรศวร” โดย กิติพงษ์ สุชาติ รวมถึง บทความเกี่ยวกับ “การสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า” และการกลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้งของ “ประยูร จรรยาวงษ์”

มาถึงไฮไลต์ของเล่มคือ “บันทึกการสำรวจป่าทุ่งใหญ่” โดย สมพงษ์ จิรบันดาลสุข ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางเข้าป่าของเขา ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2561 จนถึง 1 พฤษภาคม 2516 ซึ่งก็ได้เจอกลุ่มนักล่าสัตว์ป่า ที่รัฐบาลบอกว่ามาราชการลับ กระทั่งได้คุยกันด้วย

สมพงษ์ ระบุว่า “ในระหว่างนั้น เราได้คุยกับคณะนี้ถึงเรื่องต่างๆ อย่างสนุกสนาน นายทหารท่านหนึ่ง เล่าถึงความลำบากของชีวิตทหารว่า ท่านต้องอยู่ป่าเป็นเดือนๆ อดอยากแค้นแสนเข็น พลเรือนทราบบ้างหรือไม่ว่า ทหารนั้นต้องเป็นผู้เสียสละตลอดมา เมื่อมีโอกาสก็ต้องพักผ่อนบ้าง ท่านบอกว่า ท่านรู้ดีว่าการล่าสัตว์นั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ร่างมาจากคนที่เขียนอยู่บนโต๊ะ ไม่เคยเห็นสภาพที่แท้จริงของป่า ซึ่งความจริงแล้วการล่าสัตว์นี้จะล่าทั้งปีก็ไม่หมด และที่ท่านกระทำเช่นนี้ ก็เพราะต้องการความสนุก เป็นการผ่อนคลายอารมณ์”

จบบันทึกแล้ว ต่อด้วย “ประมวลภาพจากทุ่งใหญ่” กว่า 30 ภาพ มีทั้งการสำรวจสภาพป่า โป่ง แหล่งน้ำ รวมถึงซากสัตว์ที่ตายเพราะถูกล่า ภาพเฮลิคอปเตอร์ของคณะพราน รวมถึงภาพการตั้งเต็นท์นั่งโต๊ะกินดื่มในป่าของคณะนั้นด้วย ซึ่งนี่น่าจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จุดกระแสสังคมให้ยิ่งไม่พอใจรัฐบาล

หนังสือยังมีบทความอื่น อาทิ “ยิ่งแก้ยิ่งรัด โดย พงษ์ จิระ, “ไพรเศร้าที่หับพนา” “ไพรกำสรด” โดย บุญส่ง เลขะกุล “กระทิง” โดย เขาแหลม, “กวางเมืองจีน ชื่อฝรั่ง” โดย อนุสร ทรัพย์มนู และในตอนท้าย คือ “จดหมายจากประชาชน” ที่นำความเห็นของผู้คน ต่อกรณีการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่มาตีพิมพ์จำนวนมาก ยิ่งสะท้อนว่าประชาชนไม่พอใจต่อเรื่องนี้อย่างยิ่ง

หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ยังมีบทกวี ของนิสิต นักศึกษาสมัยนั้นแทรกอยู่ในเล่มอีกหลายบท และสุดท้าย “ก่อนปิดเล่ม” สาราฯ ซึ่งน่าจะเป็น กองสาราณียกร ที่จัดทำหนังสือเล่มนี้ ได้เขียนข้อความสั้นๆ ส่งท้ายว่า

“โดยเฉพาะกรณีทุ่งใหญ่ ผู้ทำลายล้างเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้พิทักษ์รักษากฎหมายของบ้านเมือง แต่กลับเป็นอภิสิทธิ์ชน ดังนั้น ในยุคที่จะยึดอุดมการณ์แห่งการทำดีเป็นสรณะ ก็ขอให้รัฐท่านจงขจัดตัวมารที่จะมาทำลายล้างอุดมการณ์นี้โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถ้าขจัดได้ ประชาชนชาวไทยทุกคนจะยกมือไหว้ท่วมหัว พร้อมกับเปล่งวาจาว่า สาธุ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image