หนังสือแย้ง กกต.ถึง สนช.แล้ว ‘สมชัย’วอนฟังความเห็นสังคม อย่ายึดความเห็นตัวเอง

“สมชัย” เผยหนังสือแย้ง 2 ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว. ถึงมือประธานสนช.วันนี้ วอน สนช.ฟังความเห็นสังคม อย่ายึดความเห็นตัวเอง

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ขณะนี้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้มีการลงนามในหนังสือที่ กกต.มีความเห็นแย้งเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในวันนี้น่าจะส่งถึงมือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย โดยในส่วนของ กกต.ประธาน กกต.จะเป็นตัวแทนไปประชุม ยืนยันว่า กกต.จะเห็นแย้งเฉพาะประเด็นที่ทำความเห็นคือ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 5 ประเด็น และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 1 ประเด็น ซึ่งกรรมาธิการจะต้องประชุมให้แล้วเสร็จภาย 15 วัน ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาหากเห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วมเสนอก็จะส่งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไปดำเนินการตามขั้นตอน แต่ถ้าหากที่ประชุม สนช.มีมติเกินกว่า 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยที่กรรมาธิการร่วมเสนอร่างทั้ง 2 ฉบับก็จะตกไปและนำมาสู่ขั้นตอนของการยกร่างกฎหมายใหม่

นายสมชัยกล่าวว่า การยกร่างกฎหมายก็ขึ้นอยู่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสาระไปจากเดิมมากแค่ไหน ถ้าเปลี่ยนไม่มาก กมธ.ยกร่างที่เป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าวมาแต่ต้นก็น่าจะเป็นที่ดำเนินการ ซึ่งจะทำได้เร็วกว่าการไปตั้ง กมธ.ยกร่างชุดใหม่ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในสาระมาก และ กมธ.ยกร่างไม่ประสงค์จะเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเป็นผู้หาบุคคลมาทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างชุดใหม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะเสร็จเมื่อใด แต่โดยขั้นตอนของการร่างกฎหมายคิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน และหากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นแย้งต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายและให้ สนช.เห็นชอบจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน จากนั้นเป็นขั้นตอนของการทูลเกล้าฯอีก 1-2 เดือน ฉะนั้น กรณีมีการคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งจะทำให้ไทม์ไลน์โรดแมปการเลือกตั้งเลื่อนออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ ต้องดูบรรยากาศของการเมืองและฝ่าย สนช.ว่าจะมีท่าทีอย่างไร ถ้าคุยกันได้ปัญหาก็จะไม่เกิด ดังนั้น ในช่วงขณะนี้จึงอยากให้สังคมเป็นตัวสะท้อนความเห็นต่อประเด็นความเห็นแย้งไปยัง สนช. เช่น ประเด็นจัดมหรสพในการหาเสียงเลือกตั้งได้ทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กกต.ต่างไม่เห็นด้วย และถ้า กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไม่เห็นด้วยเช่นกัน ที่ประชุม สนช.ก็ควรยืนยันว่าไม่ให้มี

“15 วันนี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมควรให้ความเห็นต่อประเด็นที่จะมีการแก้ไข และถ้าสังคมเห็นอย่างไร สนช.ทั้งหมดก็ไม่ควรดื้อดึง ไม่ควรใช้ความเห็นส่วนตัวหรือยึดติดความเห็นในอดีตแล้วโหวตไม่ให้แก้ไข อย่ากลัวเสียหน้า ให้เอาประเทศชาติเป็นหลัก อย่าให้การเห็นต่างเพียงประเด็นเดียวคว่ำกฎหมายทั้งฉบับ ท่านต้องคิดว่ามันคุ้มหรือไม่กับการที่สุดท้ายแล้วมีการถามว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ แล้วท่านจะต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม” นายสมชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image