กลุ่มการเมืองตบเท้าร่วมแน่น เมียบิ๊กจ๊อดโผล่ด้วย ฟังกกต.แจง ตั้งพรรคการเมือง

เวทีแจงแนวทางจัดตั้งพรรคใหม่คึกคัก กลุ่มการเมืองตบเท้าร่วมแน่น พบยังสับสนปมเงินทุนประเดิมจัดตั้ง- เงินบำรุงพรรค การตั้งชื่อพรรค พร้อมจี้ถามความชัดเจนวันเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก้พรรคการเมืองครั้งที่ 1/2561 เรื่องกระบวนการและขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งจะมีการชี้แจงแนวทางการจัดตั้งพรรคการเมือง กระบวนการและขั้นตอนเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง หลักการของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยในการประชุมดังกล่าวมีกลุ่มการเมืองที่สนใจจะจัดตั้งพรรคการเมืองเข้าร่วมกว่า กลุ่ม 114 ประมาณ 291 คน และมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดประชุมชี้แจงบทบัญญัติของกฎหมาย และ ระเบียบใหม่ครั้งนี้ มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ขณะที่กลุ่มการเมือง ที่สนใจตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มเพื่อชาติไทย นำโดยนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้ายของพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กจ๊อด อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. กลุ่มพลังพลเมือง นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนักนายกรัฐมนตรี และกลุ่มไทยศรีวิไลย์ นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และ นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ “มาร์คพิทบูล

โดยนายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นสังเกตการณ์การเมืองมาร่วม 10 ปี วันนี้จึงอยากมาสู้ในระบบ และคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่อยากมารับช่วงต่อจากคสช.ที่ดูแลบ้านเมืองมาแล้ว 4 ปี นโยบายของกลุ่มไทยศิวิไลย์เน้นเรื่องของการแก้ไขปัญหาทุจริต การลดความขัดแย้ง โดยทางกลุ่มจะส่งผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ลงสมัครครบทั้ง 350 เขต ส่วนผู้ที่จะเป็นนายกฯพรรคก็ไม่ได้ต่อต้านนายกฯคนนอก ถ้าถึงเวลานั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้รับการเสนอชื่อและประชาชนยังให้การสนับสนุนพรรคก็พร้อมสนับสนุน แต่ถ้าหากประชาชนไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์เองก็ควรที่จะเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้ไปทำหน้าที่

Advertisement

ด้านนางอัมพาพันธ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งพรรคเพื่ออยากเชื่อมแนวคิดของกลุ่มคนที่ปฏิวัติกับการเมืองให้ประสานสองฝ่ายนี้กันได้ ซึ่งจะเป็นแนวคิดที่ยุติความขัดแย้ง ส่วนเรื่องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ ต้องดูแนวทางที่มาว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าคุณเป็นทหารแล้วมาในแนวทางที่ถูกต้องเราก็สนับสนุนได้

ส่วนนายสัมพันธ์ กล่าวว่า จะนำแนวทางการจัดตั้งพรรคใหม่ที่ทางกกต.เสนอในวันนี้ ไปดำเนินการร่างกลุ่มกำลังยกร่างนโยบายของพรรค พรรคจะชูการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ยอมรับว่ากฎเกณฑ์กติกาใหม่ที่ออกมามีความยุ่งยากพอสมควร แต่คนที่เป็นนักการเมืองมาก่อนมีประสบการณ์มา และมีความตั้งใจสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้นได้ อีกทั้งเห็นว่าหลักเกณฑ์ใหม่บางเรื่องเป็นผลดี เช่น ให้พรรคมีทุนประเดิม สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทำให้พรรคมีทุนในการที่จะพัฒนาพรรค ส่วนเรื่องการสนับสนุนนายกฯในเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องก็สามารถที่จะสนับสนุนได้ทั้งนายกฯคนนอกและนายกฯที่เป็นส.ส. ซึ่งคิดว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก การจะเลือกใครเป็นนายกฯกลุ่มคิดว่าเอาที่เป็นคนดีมีสามารถ แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะเสนอ เพราะยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามส่วนใหญ่ของกลุ่มการเมืองเป็นไปในส่วนของรายละเอียดการดำเนินการจัดตั้งพรรค ทั้งเรื่องเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง และเงินบำรุงพรรค ที่หลายคนยังสับสนว่าเป็นเงินส่วนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งทาง กกต.ก็ชี้แจงว่าเงินทั้งสองส่วนเป็นคนละส่วนกัน ไม่สามารถนำเงินทุนประเดิมมาใช้เป็นเงินในการจ่ายค่าบำรุงพรรคได้ ส่วนความสงสัยเรื่องการตั้งสาขาพรรค 4 สาขานั้น ทางกกต.ชี้แจงว่าแม้ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 145 จะกำหนดว่ามีสาขาใน 1 จังหวัด ก็สามารถส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ แต่จะส่งผู้สมัครทั้งประเทศไม่ได้ แต่หากตามบทบัญญัติตามปกติพรรคที่มีความประสงค์จะส่งผู้สมัครแบบเขตทั้ง 350เขต ก็จะต้องมีการตั้งสาขาพรรคทั้ง350 สาขา

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเรื่องการตั้งชื่อพรรคซึ่งบางคนสนใจที่จะนำเอาชื่อชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรค แต่ทางกกต.ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะการใช้ชื่อของชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรคนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกของคนในสังคมขึ้นได้ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มการเมืองหลายรายเรียกร้องให้ กกต.เป็นคนประสานงานกับ คสช. เพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งแรกได้ แทนที่จะให้แต่ละพรรคต้องเป็นคนขออนุญาตเอง แต่ทาง กกต.ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยพรรคการเมืองจะต้องเป็นคนขออนุญาตเอง

นอกจากนั้น มีตัวแทนกลุ่มการเมืองจำนวนหนึ่งสอบถามถึงความชัดเจนเรื่องวันเวลาในการจัดการเลือกตั้ง หรือการประกาศเขตเลือกตั้ง โดยทาง กกต.ชี้แจงว่าทั้ง 2 เรื่องยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะต้องรอดูตามประกาศ คสช.ที่ 53/2560 ตามข้อ 7 ซึ่งหัวหน้าคสช.อาจจะมีการเรียน กกต. รวมทั้งพรรคการเมืองไปให้ความเห็น ซึ่งตรงนี้เป็นโรดแมปที่แท้จริงของการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image