กรมส่งเสริมการปกครอง ไขข้อข้องใจ ระเบียบรับเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เปิดเผยว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2560 ข้อ 7 กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เนื่องจากช่วงระยะเวลาของการลงทะเบียนมีระยะเวลายาวถึง 11 เดือน ทำให้มีการลงทะเบียนคร่อมปีงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณ ซึ่งต้องมีการแบ่งเป็นช่วงการลงทะเบียน ดังนี้ 1. ลงทะเบียนช่วงเดือน มกราคม – กันยายน 2561 จะเป็นปีงบประมาณ 2561 ปีงบประมาณถัดไป คือ ปีงบประมาณ 2562 และ 2. ลงทะเบียนช่วงเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 จะเป็นปีงบประมาณ 2562 ปีงบประมาณถัดไป คือ ปีงบประมาณ 2563 ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 กำหนดหลักเกณฑ์การลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้การยื่นคำขอลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561) ว่าให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ที่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป) และสำหรับผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณถัดไป (ปีงบประมาณ 2562) ที่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2561 (ปีงบประมาณ 2561) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการยื่นคำขอลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 (ปีงบประมาณ 2562) ที่ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วแต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ไม่มาลงทะเบียน และมาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2561 (1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป) จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป)

“ขอให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2562 นับจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 (เกิดก่อนวันที่ 2 ตุลาคม 2502) และผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาใหม่ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังไม่ได้ดำเนินการลงทะเบียน ให้ไปลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึง เดือนพฤศจิกายน 2561 ด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน โดยมีหลักฐานตามที่ราชการกำหนด ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. เพื่อจะได้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพ โดยเตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ 1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายพร้อมสำเนา 2. ทะเบียนบ้าน (ที่เป็นปัจจุบัน) พร้อมสำเนา และ 3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ/ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ พร้อมสำเนา สำหรับกรณีที่ผู้สูงอายุประสงค์จะรับเงินผ่านธนาคาร”นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 นี้ ก็เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพได้ตรงตามเวลาและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ว่าผู้สูงอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามสิทธิที่พึงจะได้รับ นั่นคือ มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเร็วขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องรอให้ถึงเริ่มปีงบประมาณใหม่ หลักเกณฑ์ฉบับนี้จึงช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นอย่างมากนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image