ครม.เห็นชอบ“กฤษฎีกา”ชงทำกม.กลาง ปรับปรุงโทษอาญาให้เป็นอื่น แก้คดีรกศาล

ครม.เห็นชอบ ตามที่ “กฤษฎีกา” เสนอทำกฎหมายกลาง ปรับปรุงโทษทางอาญา

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า การกำหนดโทษทางอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 77 เขียนเอาไว้ 2 กรณี 1.ถ้าหน่วยงานใดของรัฐจะตรากฎหมายขึ้นมาควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และ 2.รัฐควรจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ยกเลิก และปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรค เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน สำนักงานกฤษฎีกาจึงมานำเสนอครม. ว่า กฎหมายที่มีโทษทางอาญา หลายเรื่องที่ไม่ได้มีความรุนแรงมากนักถ้ายังเป็นโทษทางอาญาอยู่ก็จะกลายเป็นคดีที่เข้าไปรกศาล จึงพยายามที่จะรู้ว่าเรื่องใดถ้าไม่รุนแรงควรจะต้องมีการปรับโทษอาญาให้เป็นโทษอย่างอื่น จึงมีการกำหนดว่าต่อไปนี้ส่วนราชการที่จะเสนอกฎหมายใหม่แล้วต้องการกำหนดให้มีการลงโทษทางอาญาจะต้องเป็นกฎหมายที่มีลักษณะ 1.เป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมทำอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบต่อส่วนรวม 2.เป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดเพื่อบังคับใช้กฎหมายอื่นได้ผลและมีประสิทธิภาพเพียงพอเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายได้ 3. หากกฎหมายใดก็แล้วแต่ที่มีความผิดทางอาญาแล้วมีเพียงโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกด้วยแต่สามารถเปรียบเทียบเป็นโทษปรับได้อย่างนี้ถือว่าไม่ร้ายแรงดังนั้นขอให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการอย่างอื่นที่ไม่ใช่โทษทางอาญา

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 ที่เสนอมา คือให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปออกกฎหมายกลาง โดยคำว่ากฎหมายกลางคือกฎหมายหลายฉบับที่หนึ่งโทษทางอาญามีเยอะถ้าไปทีละฉบับก็คงไม่ไหวจึงควรออกกฏหมายกลางมาหนึ่งฉบับว่า ต่อไปนี้ในกฎหมายเรื่องใดๆก็ตามที่มีโทษลักษณะนี้ ให้เปลี่ยนเป็นโทษที่ไม่ใช่โทษทางอาญา และพยายามให้เปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครองถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า โทษปรับเพียงบาทเดียวก็ถือเป็นโทษทางอาญาเช่นกัน การปรับทางอาญากับการปรับทางปกครองนั้นไม่เหมือนกัน ปรับทางปกครองนั้นเสียค่าปรับเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดว่าห้ามจอดรถตรงนั้นตรงนี้แล้วท่านไปจอดแบบนี้ท่านเสียค่าปรับ ซึ่งเมื่อเสียค่าปรับแล้วท่านจะไม่ถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติว่าท่านถูกลงโทษ แต่หากมีการบันทึกเอาไว้ เรียกว่ากันปรับทางอาญา

“ทั้งนี้ในที่ประชุมโดยเฉพาะนายกฯก็มีความเป็นห่วงว่า จะมีสังคมส่วนหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่าการทำแบบนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีเงินมาก คือพร้อมทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องกลัวจำคุกเพราะเปลี่ยนเป็นโทษปรับได้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงอธิบายว่า ไม่ใช่แบบนั้น เพราะมีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าถ้าจะไม่มีโทษทางอาญาจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงคือต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมทำอันดีของประชาชนและส่วนรวม อย่างไรก็ตามจะคิดเฉพาะคนที่มีฐานะดีอย่างเดียวไม่ได้ การปรับแก้ไขกฎหมายเหล่านี้มีผลต่อผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดโทษเพดานสูงสุดในการปรับเช่นปรับไม่เกิน 800,000 บาทจะปรับ 1,000 บาทก็ได้ จะปรับ 60,000 บาท ก็ได้ หรือปรับ 800,000 บาทเลยก็ได้แต่ช่วงหลังๆนี้จะมีกฎหมายที่กำหนดเพดานขั้นต่ำไว้แล้ว เช่น ให้ปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 800,000 บาท ซึ่งแม้ว่าจะเมตตาเพียงใดก็ปรับเยอะอยู่ดี”พล.ท.สรรเสริญกล่าว

Advertisement

พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ดังนั้นโทษที่กำหนดเพดานขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ต่อไปหากไม่ใช่เรื่องร้ายแรงจะกำหนดเฉพาะเพดานขั้นสูงไว้อย่างเดียว ฉะนั้นจะบอกว่ากฎหมายนี้เป็นคนต่อคนที่มีฐานะอย่างเดียวคงไม่ใช่ เราดูความเหลื่อมล้ำโดยทั่วไป ทั้งคนที่มีฐานะดีและผู้มีรายได้น้อยต่างก็ได้รับประโยชน์จากแนวทางในการแก้ไขเหมือนกัน นอกเหนือจากนี้ยังได้มีการขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีอัตราโทษที่เท่ากันแต่กระทงความผิดร้ายแรงหรือพฤติกรรมต่างกัน เช่น เมื่อก่อนลักทรัพย์ กับฉ้อโกงมีโทษเท่ากัน วันนี้ก็ไม่ได้แล้ว เพราะยักยอกทรัพย์หรือฉ้อโกง เป็นความผิดขึ้นไปอีกระดับหนึ่งจะมีโทษเท่ากันไม่ได้ ใครก็แล้วแต่ที่มีหน้าที่ทำกฎหมายต้องไปตรวจดูว่าหากเข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต้องไปปรับให้เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบตรมที่เสนอ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายมีการเสนอให้มีการแยกโทษสำหรับนิติบุคคลออกจากโทษของบุคคลธรรมดา เช่น บริษัทไปทำอะไรผิดคนเป็นกรรมการบริษัทก็ต้องผิดไปด้วย เขามีความรู้สึกว่าต้องแยกกัน บริษัทผิดก็ว่าไปแต่ตัวบุคคลจะไม่มีส่วนรับรู้ด้วย เว้นเสียแต่ว่าจะมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า คุณมีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการดูเห็นชอบให้ทำแบบนั้นถึงจะดูด้วย ซึ่งครม.ก็มีมติเห็นชอบ เพราะถือเป็นกระบวนการในการปฏิรูปกฎหมายของเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image