กรธ.เคาะร่างรธน. 279 มาตรา 16 หมวด ก่อนส่งมอบครม.ทำประชามติ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 มีนาคม ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประชุมนอกสถานที่เป็นวันสุดท้าย โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ โดยวันนี้จะเป็นการพิจารณาในบทเฉพาะกาล ต่อมาเวลา 13.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุมว่า กรธ.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 16 หมวด 279 มาตรารวมบทเฉพาะกาล โดยหมวดที่ 16 กรธ.ได้เพิ่มขึ้นใหม่เป็นหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ส่วนบทเฉพาะกาล ได้มีการเขียนรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการคงการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เช่น องคมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ.กรธ. โดยหลักการยังคงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น

นายนรชิต กล่าวต่อว่า ขณะที่การเลือกตั้งส.ส.ทั่วไปครั้งแรก จะต้องมีขึ้นภายใน 150 วัน หลังจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปของคสช. คือ 6-4-6-4 และหากสนช. สปท. ครม.และ คสช.จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 7 ฉบับจะต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ส่วนกระบวนการได้มาซึ่งส.ว.ทางอ้อมจำนวน 200 คนก่อนให้คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน กำหนดให้ กกต. ดำเนินการตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งส.ส. 15 วัน โดยต้องมีกระบวนการเลือก ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ส่วนการสรรหาส.ว.อีก 200 คนก็เป็นหน้าที่ของคสช.ดำเนินการต่อไป

12887518_10209307821511802_1848443737_o[1]

นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนของบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งองค์กรต่างๆ จะมีหน้าที่อะไร พ้นไปเมื่อใด ตรงนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่ สนช. สิ้นสุดการทำหน้าที่ในวันเรียกประชุมรัฐสภานัดแรก ส่วนครม. บริหารราชการไปจนกว่าครม.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ สำหรับสปท. ระบุให้อยู่ต่อไปอีก 1 ปี เว้นแต่มีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในกฎหมายปฏิรูป ขณะที่กรธ. จะทำหน้าที่ต่อไปจนกระทั่งสามารถยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จำเป็น จำนวน 11 ฉบับเสร็จ

Advertisement

นายนรชิต กล่าวด้วยว่า สำหรับวันที่ 28 มีนาคม กรธ.จะมีการประชุมเวลา 09.00 น. เพื่อตรวจทานความถูกต้องของถ้อยคำและเรียบเรียงเลขรายมาตรารวมทั้งความเชื่อมโยงของมาตราต่างๆ รวมทั้งให้กรธ.กลับไปตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ขณะที่วันที่ 29 มีนาคม กรธ.นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.จะทำหน้าที่แถลงสรุปร่างรัฐธรรมนูญก่อนส่งมอบให้มีการครม.เวลา 13.39 น.ที่รัฐสภา และในวันที่ 30 มีนาคม กรธ.จะอธิบายและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อ สนช.และสปท.และหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน ที่รัฐสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image