กก.ปฏิรูปประเทศแจงผลงานหวังสร้างชุมชนเข้มแข็ง อีก 10 ปีประชาชนมีหมอประจำตัว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูปร่วมกับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศในหัวข้อ “สุขภาพดี สังคมแข็งแรง สื่อสร้างสรรค์” เพื่อเตรียมพร้อมแผนปฏิรูปประเทศในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยมีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม พร้อมด้วย นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และ นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ร่วมแถลงข่าว

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ในด้านสังคมอาจจะกว้าง รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ระบุไว้ จึงต้องเลือกปัญหาที่สำคัญทางสังคม ซึ่งมีอยู่ 5-6 ประการ คือ 1.การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2.การออมที่คนไทยกว่า 30-40% ไม่มีการออม จึงต้องมีการออมตั้งแต่ต้น ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนการออมแห่งชาติ และการออมภาคบังคับที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอาจจะใช้ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนหนึ่งเป็นเงินออมให้คนจน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและให้ประชาชนสามารถตั้งตัวได้ แต่การพึ่งพารัฐฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีการปฏิรูปจึงต้องทำให้เกิดการออมภาคบังคับให้มากขึ้นเพื่อให้คนที่มีการออมเป็นคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด 3.ผู้ที่ออกจากงานแล้วควรจะมีเงินใช้จ่ายร้อยละ 30 ของรายได้สุดท้าย 4.ต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการให้บริการของภาครัฐ ให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นในทุกกลุ่ม และ 5.ชุมชนที่ยังต้องการความช่วยเหลือซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีความพยายามออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.รองรับสิทธิชุมชน จึงต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคมโดยให้ประชาชน รู้จักเสียสละ มีส่วนร่วมผ่านอาสาสมัครและกลุ่มพลังต่างๆ รวมถึงระดมทุนหมุนเวียนให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กู้ยืมเพื่อลงทุนในบริการสาธารณะด้านสังคม เช่น จัดแหล่งเรียนรู้ สถานที่ดูแลผู้สูงวัย

ด้านนพ.เสรี กล่าวว่า สำหรับด้านสาธารณสุขนั้น แล้วถ้ามนูญกำหนดให้ต้องดูแลประชาชนโดยเราคิดเรื่องของการมีแพทย์ประจำครอบครัว จากเดิมที่มีแพทย์ระดับอำเภอ เราต้องการให้ลงไปยังระดับชุมชน ลงไปยังระดับครอบครัว โดยจะค่อยค่อยดำเนินการ แม้ในขณะนี้ ทีมแพทย์อาจจะยังมีไม่เพียงพอแต่ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี ซึ่งจากนี้ประชาชนแต่ละคนจะมีหมอประจำตัว นอกจากนี้จะมีสหวิชาชีพเข้ามาร่วมด้วย เช่น ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย ฯลฯ พี่จะลงไปดูแลประชาชนที่บ้านด้วย โดยจะเป็นการดูแลประชาชนในลักษณะของการบูรณาการ พร้อมให้ความรู้เรื่องการดูแลตัวเองแก่ประชาชน นอกจากนี้เรายังคิดจัดทำระบบสมาร์ทการ์ด ที่เมื่อคนไข้ไปโรงพยาบาลก็จะมีรายงานของคนไข้ในโรงพยาบาลตลอดเวลา และคนไข้เองสามารถดูบันทึกการักษาของตัวเองได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน รวมถึงเมื่อเกิดเจ็บป่วยก็ไม่ต้องเดินทางไปรอการรักษาที่โรงพยาบาล สามารถติดต่อโรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ทันทีเพราะแต่ละที่จะมีข้อมูลคนไข้ที่สามารถเรียกดูได้ตลอด ซึ่งจะทำให้ประชาชนประหยัดเวลา และลดการรอคอยของประชาชนที่จะต้องไปรอคอยที่โรงพยาบาลด้วย

ขณะที่นายจิรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคสื่อที่มีความรวดเร็ว กว้างขว้างและการรับข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนจะต้องนำความคิดเห็นเหล่านี้มาประมวลและต่อยอดเพื่อให้เกิดรูปธรรมใน 6 ประเด็น คือ 1.การรู้เท่าทันสื่อของประชาชน 2.การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ที่จะหยิบยกจริยธรรมเข้ามาควบคุมมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย 3.โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยต้องการให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม 4.การปฏิรูปสื่อออนไลน์ ที่จะต้องทำงานเชิงบูรณาการที่ภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง 5.เรื่องเกี่ยวกับไซเบอร์ที่จะต้องบริหารการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ 6.การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ เป็นกลไกหลักในการเข้ามามีส่วนร่วมและกรมประชาสัมพันธ์ต้องเปลี่ยนบทบาทในการทำหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลักมากกว่าการสร้างความเข้าใจกับข้าราชการเท่านั้น โดยเน้นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม มากกว่าการดูละครที่ตบตีกัน โดยจะต้องร่วมกันทุกหน่วยงานบูรณาการเพื่อทำให้งบประมาณลดลงแต่มีผลงานมากขึ้น ทั้งนี้ในระยะช่วง 5 ปีแรก ทางคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ จะดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใน 2 ด้าน คือ การรู้เท่าทันสื่อและจริยธรรมสื่อ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นอื่นๆ ต่อไป และสิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิรูปตนเองที่จะพิจารณาก่อนเผยแพร่สื่อต่างๆ นอกจากนั้นช่อง NBT ของรัฐต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปก่อน ถือเป็นโจทย์สำคัญจากเดิมเอ็นบีที จัดผังรายการเองทั้งหมด 100% ก็ต้องแบ่งให้ประชาชนใช้ประโยชน์บ้าง 30-40% , การปฏิรูป การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วม , การปฏิรูป การจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศและระบบเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันบรรเทาสาธารณภัย , การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ทั้งนี้ ประชาชนก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการรับข้อมูลข่าวสารอะไรมาก็แล้วแต่ต้องพิจารณาก่อนส่งต่อไปให้คนอื่น เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของปัญหาในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image