วงถกประชามติ จี้เปิดกว้างแสดงความเห็นรธน. ก่อนประชามติ “บิ๊กบัง” จวกคสช.รวมปชช.เป็นหนึ่งไม่ได้

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสร้างอนาคตไทย และเว็บไซต์ประชามติ จัดเวทีสาธารณะ “ถกแถลงปัญหาประชามติ” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหิดล นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางนฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลินิธิปรีดีพนมยงค์

โดยนายโคทม กล่าวว่า คณะทำงานห่วงใยการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประชามติ ที่หลายมาตรายังมีข้อสังสัย อาทิ มาตรา 10 ที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียม ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ของรัฐ จัดสรรเวลาออกอากาศตามที่กกต.กำหนด แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้อื่นในการจัดให้มีการแสดงความเห็นใช่หรือไม่ รวมถึงมาตรา 62 ที่บัญญัติการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางอันตราย จึงควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดบ้าง เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย สำหรับประเด็นการตั้งคำถามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกี่ยวกับบุคคล หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว เห็นว่าสนช.ไม่ควรกระทำ เพราะหลักการทั่วไปของการทำประชามติไม่ควรตั้งคำถามลักษณะดังกล่าว ที่สำคัญต้องมีความชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป

ด้าน นายนิกร กล่าวว่า ในพ.ร.บ.ประชามติ มีประเด็นสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาทำให้คนไม่กล้าจัดเวทีแสดงความเห็นหรือรณรงค์ให้ความรู้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องเขียนให้ชัดว่าใครบ้างที่ดำเนินการได้ และควรประกาศให้ชัดเจนว่าหากทำแล้วจะไม่ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถ้าทำประชามติไม่ดีก็เท่ากับระเบิดดีๆ ระเบิดจะระเบิดได้ถ้ามีการปิดกั้น แต่ถ้าอยู่ในที่แจ้งไม่ปิดกั้นอาจจะแค่เกิดความร้อนแต่ไม่ถึงขั้นระเบิด

ขณะที่ นายองอาจ กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ควรทบทวนประกาศเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง เพราะการออกเสียงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ถ้ายังมีประกาศห้ามไม่ว่าใครจัดให้มีการแสดงความเห็นหรือให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามประกาศคสช.หรือไม่ และในกฎหมายประชามติส่วนใดที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้ สนช. หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาบอกให้ชัดเจนว่าข้อความที่คลุมเครือมีเจตนาอย่างไรจึงได้บัญญัติไว้ในกฎหมายประชามติ และอยากให้คสช.ระบุให้ชัดเจนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีกระบวนการอย่างไรให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 อีกทั้งการออกเสียงอยู่ในบรรยากาศที่มีคสช.กุมอำนาจรัฐอยู่ คสช.ต้องแสดงความชัดเจนว่าจะไม่ใช้กลไกอำนาจรัฐไปดำเนินการใดๆก็ตาม ทุกอย่างเริ่มต้นที่การทำประชามติ จึงควรเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆสร้างบรรยากาศความพร้อมสู่การเลือกตั้งต่อไป

Advertisement

ด้าน นายสมบัติ กล่าวว่า โดยปกติการลงประชามติเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยโดยตรง มักเกี่ยวข้องกับประเด็นเดี่ยวๆที่ชัดเจน ประชาชนเข้าใจง่ายในการจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และจะได้ผลดีมากในสังคมที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจรัฐธรรมนูญมาก จึงควรสร้างบรรยากาศให้มีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความเห็นอย่างเปิดกว้าง ถ้ามีข้อจำกัดเยอะประชามติจะเป็นเพียงพิธีกรรมมากกว่ากระบวนการประชาธิปไตยจริงๆ หรือการให้ประชาชนได้ตัดสินใจจริงๆ อย่างมีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะตนไม่แน่ใจว่าภายใต้สภาพความเป็นจริงประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะการให้ความรู้ก็โดนจำกัด ที่สำคัญการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันต้องไม่ทำให้เกิดปฏิปักษ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง

นายพงษ์เทพ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาทั้งหลาย ต้องทำเหมือนสมัยยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการจัดเวทีแสดงความเห็นกันกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้ได้ประชามติที่แท้จริงไม่ใช่พิธีกรรม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำว่าผู้มีสิทธิออกเสียงจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งร่างที่อยู่ในสนช.ไม่มีประเด็นดังกล่าว อีกทั้งมาตรา 62 ยังเป็นมาตราที่มีปัญหามากจะทำให้ตีความกันวุ่นวาย ดีที่สุดคือการปล่อยให้พูดเต็มที่ประชาชนจะพิจารณาเองว่าเหตุผลใครดีกว่ากัน จึงควรตัดมาตราดังกล่าวออก และควรกำหนดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 40 – 50 จะเป็นหลักที่ถือว่ายุติธรรมที่สุด ถ้าไม่กำหนดจะทำให้ประชาชนไม่สบายใจว่าถ้าลงประชามติแล้วผลออกมาจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งควรใช้ชั่วคราวเท่านั้น ระหว่างใช้ก็ยกร่างฉบับถาวรโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เชื่อว่าจะทำให้เกิดทางเลือกที่เป็นธรรมต่อประชาชน และได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนในอนาคตด้วย

พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ถ้ายังไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่วัฏจักรเดิมๆ เป็นไปได้อยากให้ประชาชนเข้าใจแล้วค่อยมาเลือก ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดวิกฤตแตกแยกทางความคิด เพราะคสช.ยังไม่ได้ทำให้คนไทยที่แบ่งฝ่ายรวมเป็นฝ่ายเดียวกัน

Advertisement

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การลงประชามติ ไม่ควรเป็นเฉพาะรัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างฯชุดนี้ ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนเท่าท่ีควร และมีหลายประเด็นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เมื่อไม่ได้มีกระบวนส่วนร่วม ดังนั้นจึงต้องใช้ประชามติเป็นกระบวรการมีส่วนร่วม เพราะประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จึงต้องทำให้การลงประชามติมีประสิทธิภาพ คนไทยจะผ่านได้อย่างเรียบร้อย โดยแนวทางคือควรให้ลงประชามติในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือเนื้อหาส่วนไหนมีความขัดแย้งสูงให้ลงเป็นเรื่องๆ เช่น ที่มาของนายกฯ ที่มาของส.ว. ระบบเลือกตั้งจะเอาาแบบไหน อีกทั้งร่างฯฉบับนี้ทำให้ดุลภาพการเมืองเสียไปหรือไม่ เพราะโหวตแล้วไม่ว่าจะเอาหรือไม่ แล้วต้องมีทางเลือก ไม่เช่นนั้จะไม่สามารถวัดความต้องการของประชาชนที่แท้จริงได้

นายอรรถสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่มีใครอ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจะไม่มีความรู้ในพื้นฐานทางการเมือง แต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่มีความเข้าใจในระดับหนึ่งโดยมีอคติอยู่บ้าง ดังนั้น การให้ข้อมูลจะทำให้คนก้าวข้ามอคติได้ ส่วนมาตรา 62 ทำให้เกิดการตีความที่กว้างขวาง สิ่งที่ต้องคิดคือหากต้องการให้แสดงความเห็นอย่างเสรีแต่ไม่เป็นการแสดงความเห็นที่โจมตีกันจะต้องทำแบบไหน

ด้าน นางนฤมล กล่าวว่า การลงประชามติคือการอธิบายว่าเป็นการยึดโยงกับประชาชน เพราะคนที่เข้ามานั้น มาโดยพลการ ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ดังนั้น การปิดกั้น บังคับข่มขู่ จึงไม่ใช่เจตจำนงโดยเสรี จึงต้องระวังการบอกว่าให้ลงประชามติ แต่ไม่ได้สนใจเจตจำนงเสรีของประชาชน ไม่อนุญาตให้คนเห็นโต้แย้งได้เห็นเท่ากับไม่มีเสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพประชามติจะไม่มีคุณภาพ ส่วนจะลงมติทั้งฉบับหรือรายประเด็น ตนคิดว่าทำได้ทั้ง 2 แบบ แต่โดยหลักการแล้วการลงประชามติต้องฟรี และ แฟร์ คือต้องมีอิสระเสรี และ เป็นธรรม ซึ่งอาจจะมีทางเลือกในการตั้งคำถามสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรธน.บางประเด็น อาจถามไปว่ากำหนดให้แก้รธน.หลังจากผ่านรธน.ภายในกี่ปี อย่างนี้ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image