วงเสวนา’ประชามติ’ จี้กติกาชัด-ไม่ปิดกั้น

หมายเหตุ – สถาบันสิทธิมนุษยนชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสร้างอนาคตประเทศไทย และเว็บไซต์ประชามติ จัดสัมมนาเรื่อง “ถกแถลงประชามติ” โดยมีนักวิชาการและนักการเมืองร่วมให้ความคิดเห็น ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะมนตรีรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

ต้องยอมรับว่าการลงประชามติครั้งที่แล้วเมื่อ พ.ศ.2550 ประชาชนก็อ่านร่างรัฐธรรมนูญน้อย ถ้ามีการลงประชามติครั้งนี้ก็คิดว่าคงไม่ต่างกัน ครั้งนี้หากเรายังไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็จะเข้าไปวัฏจักรแต่เดิม

ทั้งนี้ตามหลักการประชาธิปไตยประชาชนต้องสามารถส่งเสียงเพื่อบอกความต้องการของตัวเองได้ แต่วันนี้ประชาธิปไตยบ้านเรายังเป็นแบบบนสั่งลงไป ถ้าข้างบนส่งลงไปประชาชนถึงจะส่งเสียงขึ้นมา ดังนั้น หากทำประชามติด้วยเงื่อนไขแบบนี้ก็อาจจะเป็นเพียงพิธีกรรม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ประชาชนต้องเข้าใจจริงๆ เพราะหากยังไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นวิกฤตอย่างหนึ่งด้วย ต้องไม่ลืมว่าประชาชนตอนนี้ยังอยู่ในมือผู้นำชุมชนอยู่ บ้านเราประชาชนยังแบ่งกันไปฝักฝ่าย ถ้าไม่ทำให้หลายฝักฝ่ายมีความเข้าใจไปทิศทางเดียวกัน ก็อาจจะเกิดเป็นวิกฤตของความแตกแยกทางความคิด เพราะรับกับไม่รับ อาจเป็นความคิดคนละพวกกันไปอีก

Advertisement

ดังนั้น ผมจึงอยากให้ประชาชนมีความเข้าใจจริงๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ต้องเข้าใจร่างอย่างชัดเจนและสอดคล้องกัน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเอากับไม่เอากลายเป็นสองฝ่าย จึงอยากให้มองที่ตัวประชาชนเป็นหลัก ที่ผ่านมา คสช.ยังไม่เคยทำให้คนไทยที่แบ่งเป็นฝ่ายรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้เลย

นิกร จำนง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

การทำประชามติที่จะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีประเด็นสุ่มเสี่ยงที่อาจจะทำให้ไม่มีใครกล้าจัดเวทีเพื่อแสดงความเห็นหรือรณรงค์ให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาที่มีความคลุมเครืออาจทำให้อำนาจในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นของให้ กกต.อย่างเดียว ยิ่งภายใต้บรรยากาศที่เคร่งครัดหรือมีอัยการศึก อาจทำให้ไม่มีใครกล้าจัดเวทีเลย เพราะมีโทษร้ายแรง

ดังนั้น เรื่องดังกล่าวต้องมีความชัดเจนว่าสามารถกระทำได้โดยไม่มีเงื่อนไขอะไร เพื่อให้สื่ออื่นๆ หรือผู้ที่จะจัดกิจกรรมมีความมั่นใจว่าไม่ขัดกับคำสั่งหรือประกาศ คสช.

ทั้งนี้ การทำประชามติมีบางมุมที่ยังมองกันไม่ชัด เพราะประชามติถ้าทำไม่ดีก็จะกลายเป็นระเบิด การประชามติเมื่อเสียงข้างมากชนะ ไม่ใช่ว่ามันจะจบโดยที่เสียงข้างน้อยจะยอมรับทำตาม แต่จะมีการโต้แย้งอยู่ในใจเสมอ เช่น ประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 บ่งบอกได้ชัดว่าไม่สามารถหลอมใจกลายเป็นหนึ่งได้ เพราะฟากที่ไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อเข้ามามีอำนาจทางการเมืองก็แก้ไปตามความคิดของตัวเอง จนฝ่ายที่ชนะในการทำประชามติแต่กลับแพ้ในการเลือกตั้งก็ไปหยิบยกว่าประชาชนให้ผ่านมาเป็นเครื่องมือเพื่อโต้แย้งในการแก้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งการทำประชามติครั้งที่แล้วจะทำอย่างเปิดเผยไม่ถูกปิดกั้น แต่ถ้าการทำประชามติครั้งนี้คิดว่ายิ่งเปิดกว้างมากเท่าใด อันตรายก็จะยิ่งน้อยลง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นดินระเบิดที่ฝั่งอยู่ในใจคน แล้วจะเป็นปัญหาต่อไปไม่รู้จบ และอาจนำไปสู่ความขัดแแย้งอันมีเหตุมาจากการไม่ยอมรับจากการไม่เปิดให้มีการถกเถียงกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นการเปิดจะเป็นการลดอันตรายได้

ผมเห็นว่า สปท.ไม่ควรส่งประเด็นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคำถามแนบท้ายไปกับประชามติ เพราะ สปท.ไม่มีหน้าที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากมองในมุมทางการเมืองอาจจะกลายเป็นทางเบี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่จบ เพราะอาจนำไปสู่การปรับแก้ในตอนท้ายหลังการทำประชามติได้อีก จึงต้องดูกันดีๆ ว่า สนช.ตั้งคำถามในลักษณะใด

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ประการแรก เมื่อจะมีการออกเสียงประชามติแล้ว ไม่ควรเป็นหน้าที่เฉพาะ กกต.ในการจัดการให้บุคคลใดมาแสดงความคิดเห็นว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่แน่นอนว่า กกต.อาจจะกำหนดกฎเกณฑ์การใช้สื่อของรัฐได้ แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการเปิดโอกาสให้สื่ออื่นๆ แสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง คสช.ควรทบทวนประกาศ คสช.ในเรื่องการของจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมือง เพราะถ้ายังมีประกาศห้ามอยู่ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมือง อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดประกาศของ คสช.หรือไม่

ประการที่สาม เนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ยังมีข้อความที่มีความคลุมเครืออยู่ จึงต้องมีการตีความ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาในการตีความในอนาคต ประการที่สี่ อยากให้ทาง คสช.ระบุให้ชัดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติ จะมีแนวทางหรือทางออกอย่างไร เพื่อให้รัฐธรรมนญูฉบับที่ 20 บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป และประการสุดท้าย เนื่องจากบรรยากาศในการออกเสียงประชามติคราวนี้อยู่ภายใต้ คสช.ที่คุมอำนาจรัฐอยู่ จึงอยากให้ คสช.ต้องแสดงความชัดเจนว่า จะไม่ใช้กลใดๆ ของอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการให้มีการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ เพราะถ้ากลไกของอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการจะก่อให้เกิดปัญหาในการยอมรับหรือไม่ยอมรับมากยิ่งขึ้น และจะทำให้การเดินหน้าประเทศไปสู่สภาวะปกติยากยิ่งขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศของการทำประชามติ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้งตามปกติต่อไป

พงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย

จากประสบการณ์ที่เห็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำเวทีรณรงค์ต่างๆ มักจะหาคนฟังยาก ยิ่งการจัดเวทีเพื่อรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญจะยากกว่าเดิม เพราะไม่รู้ว่าผู้ที่อยากจะแสดงความเห็นมีใครบ้าง ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่เห็นผู้สมัครอย่างชัดเจน ซึ่งคราวนี้ กกต.ก็จะทำอย่างที่เคยทำโดยไม่ได้หวังผลอะไร

ดังนั้นจึงต้องให้ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษา สื่อเข้ามาส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนรับทราบสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด แล้วจะได้ประชามติอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรม

ทั้งนี้การเผยแพร่ข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำว่าผู้มีสิทธิออกเสียงจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่อยู่ใน สนช.ไม่มีประเด็นดังกล่าว อีกทั้งมาตรา 62 ยังเป็นมาตราที่มีปัญหามากจะทำให้ตีความกันวุ่นวาย ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้พูดเต็มที่ประชาชนจะพิจารณาเองว่าเหตุผลใครดีกว่ากัน จึงควรตัดมาตราดังกล่าวออก

ควรกำหนดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 40-50 จะเป็นหลักที่ถือว่ายุติธรรมที่สุด ถ้าไม่กำหนดจะทำให้ประชาชนไม่สบายใจว่า ถ้าลงประชามติแล้วผลออกมาจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งควรใช้ชั่วคราวเท่านั้น ระหว่างใช้ก็ยกร่างฉบับถาวรโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เชื่อว่าจะทำให้เกิดทางเลือกที่เป็นธรรมต่อประชาชน และได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม การเสนอคำถามประชามติเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะนำไปสู่การปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากการทำประชามติก็เป็นได้ ซึ่งเราไม่มีใครรู้เลยว่า ผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร อาจจะมีการปรับแก้โครงสร้างอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวพันกับคำถามของ สนช.ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image