อดีต ส.ส.ร.ชี้ไร้ทิศทางหลังประชามติ เสมือนปชช.เจ้าของประเทศถูกคลุมถุงชน

‘คณิน’ชี้ ความไม่ชัดเจนปมหากประชามติไม่ผ่านจะเอาอย่างไรทำ ปท.จมอยู่กับความไม่แน่นอน เสนอถาม ปชช.เอารธน.ของ กรธ.หรือนำ รธน.40 มาใช้

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งของ คสช. ซึ่งกำหนดประมาณต้นปี 2560 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าด้วยการออกเสียงประชามติก็ประกาศใช้แล้ว ร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติก็กำลังจะประกาศใช้ กำหนดการออกเสียงประชามติก็ประกาศแล้วว่าเป็นวันที่ 7 สิงหาคม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ร่างสุดท้ายก็จะเผยโฉมหน้าในวันที่ 29 มีนาคมนี้แล้ว หน่วยงานภาครัฐรวมทั้ง คสช. รัฐบาล และกองทัพก็ได้เดินหน้าเผยแพร่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญไปจนถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ไปล่วงหน้าแล้ว เหลืออยู่อย่างเดียวที่ดูเหมือนทั้งรัฐบาล คสช. สนช. หรือแม้แต่ กรธ.เองก็ยังไม่มีความชัดเจนเลย ต่อคำถามที่ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาประกาศใช้ หรือจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างใหม่ ซึ่งบรรยากาศอึมครึมและดูเหมือนจะอมพะนำกันอยู่เช่นนี้ ไม่เป็นผลดีเลย ทั้งต่อประเทศชาติ ประชาชน หรือแม้แต่ต่อรัฐบาลและ คสช.เอง เพราะทำให้ดูเหมือนชะตากรรมของประเทศนี้จมอยู่กับความไม่แน่นอน

นายคณินกล่าวว่า ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกระบวนการที่จะให้ประชาชนตัดสินอนาคตชะตากรรมของตนเองและทิศทางของประเทศที่จะขับเคลื่อนไปในวันข้างหน้า ดังนั้น การให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่บอกให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ประชาชนจะได้รัฐธรรมนูญแบบไหนหรือจะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร จึงถือว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เรียกว่าเป็นการมัดมือชกหรือคลุมถุงชน อันเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่สมควรกระทำต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีอากร เพราะไม่มีกระบวนการประชาธิปไตยมารองรับ

นายคณินกล่าวว่า ตนขอเสนอให้ถามประชาชนในการออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. หรือจะให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกาศใช้โดยมีบทเฉพาะกาลให้เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ (ส่วน ครม. สนช. และ คสช. ก็อยู่ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาชุดใหม่หลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่) ผลออกมาเป็นอย่างไร ก็เชื่อแน่ว่าจะเป็นที่ยอมรับทั้งประชาชนในชาติและประชาคมนานาชาติ ประเทศไทยจะได้เดินหน้าต่อไปได้สักที นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลดีอีกประการหนึ่ง คือ ฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือรณรงค์ไม่รับร่างของ กรธ. ก็จะไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีร่างของ กรธ. เหมือนอย่างที่กลัวกันจนต้องออกกฎหมายมาควบคุมและลงโทษจำคุกถึง 10 ปี สำหรับผู้ที่รณรงค์ต่อต้าน เพราะต่างฝ่ายต่างก็พูดสนับสนุนข้อดีของร่างที่ตนเห็นชอบไป โดยไม่ต้องไปโจมตีหรือพูดถึงจุดอ่อนของร่างที่ตนไม่เห็นชอบ ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายควบคุมการลงประชามติด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image