09.00 INDEX แตกหัก ภายใน ประชาธิปัตย์ ประเมินผล ในทาง “ยุทธวิธี”

พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2561 ไม่เหมือนพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2495 ที่กลุ่ม นายเลียง ไชยกาล แยกตัวออกไป
ไม่เหมือนเมื่อปี 2522 ที่กลุ่ม นายสมัคร สุนทรเวช แยกตัว
หากแต่มีความใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์เมื่อปี 2529 ที่กลุ่ม นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และ นายวีระ มุสิกะพงศ์ แยกตัวออกไป
เพียงแต่เมื่อปี 2529 มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นศูนย์รวมความขัดแย้ง
ขณะที่ปี 2561 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยิ่งกว่านั้น ความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ยิ่งมากกว่าเป็นอย่างมากเพราะเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับ “รัฐประหาร”
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปสัมพันธ์
ไม่เพียงเพราะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้จัดตั้ง “กปปส.”
หากแต่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์แม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เข้าไปร่วมเป่านกหวีด
มวลชนที่เข้ามาหนุนพื้นฐานคือ มวลชนพรรคประชาธิปัตย์
จะมีจุดต่างก็เพียงแต่ว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉวยคว้าโอกาสจากสถานการณ์ก่อรัฐประหาร ความสัมพันธ์ก็เริ่มแปรเปลี่ยน
ยิ่งวัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกปปส. ยิ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามถอยห่าง
นั่นก็คือ ต้องการชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประเด็นนี้แหละที่ทำให้เกิดสภาพ”แตกหัก”ทางการเมือง

ไม่ว่าการแตกหักนี้จะดำเนินไปในทาง”ยุทธวิธี” และมีลักษณะชั่วคราวเพราะในที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยชี้ขาด
แต่ผลเฉพาะหน้าก็เกิดขึ้นแล้ว
1 เห็นได้จากการวิพากษ์โจมตีอย่างดุเดือดมาจากบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 1 เห็นได้จากความหวั่นเกรงในเรื่องการยื้อแย่งตัวผู้สมัครและฐานเสียงการเมือง
การแตกหักนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image