วิปสนช. มั่นใจ กม.ลูกไม่ขัดรธน. ปัดเสียงแตกยื่นตีความ มีแค่ 2-3 คนเท่านั้นยังติดใจ

วิปสนช. มั่นใจ กม.ลูกเนื้อหาไม่ขัดรธน. ปัดเสียงแตกยื่นศาลตีความ บอก มีคนยังติดใจแค่ 2-3 คนเท่านั้น

วันนี้ (10 มี.ค.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการเข้าชื่อยื่นตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกสนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.แต่อย่างใด ถ้าดูจากเสียงสนช.ที่ลงมติไม่เห็นด้วยร่างกฎหมายลูกส.ว.มีแค่ 1 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง ไม่ถึง 25 เสียงที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่น่าจะมี เพราะไม่เหมือนกับตอนที่สมาชิกสนช.เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในประเด็นในประเด็นการให้กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระที่มีสมาชิกสนช.ไม่เห็นด้วยโดยเพียงพอต่อการเข้าชื่อกันได้

ด้าน นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวถึงการประชุมวิปสนช.ในวันที่ 13 มีนาคมที่อาจจะพิจารณาเรื่องการยื่นตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในวาระการประชุมวิปสนช.วันที่13 มีนาคมนี้ ไม่จำเป็นต้องนำมาหารือในที่ประชุมวิปสนช. เป็นเรื่องของสมาชิกจะไปเข้าชื่อกันเอง ตอนที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ไม่ได้มาหารือในวิปสนช.เช่นกัน แต่เท่าที่ดูผลการลงมติที่ออกมาคงยากจะรวบรมรายชื่อสนช.ครบ 25คน เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนำชื่อของคนที่ไม่ได้มาโหวตลงมติลงชื่อด้วยก็จะได้เสียง30กว่าเสียง ขณะนี้ยังไม่ได้ยินว่า จะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และสนช.ไม่ได้เสียงแตก อาจมีคนไม่เห็นด้วยแค่ 2-3 คนเท่านั้น ก็ต้องไปหารายชื่อมาให้ครบ25คน ตัวตั้งตัวตีคงต้องเป็นคนที่ลงมติไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง ส่วนตัวยังมั่นใจว่า ร่างกฎหมายลูกส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการไปเขียนเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลสามารถทำได้

นายสมชาย กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากที่ประชุมสนช.ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูก2ฉบับแล้ว จะใช้เวลาไม่เกิน10 วัน เพื่อตรวจสอบถ้อยคำในร่างกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อความรอบคอบ จากนั้นส่งให้นายกรัฐมนตรีพักไว้ 5 วัน เพื่อรอดูจะมีใครยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มี นายกฯจะนำร่างกฎหมายชึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน ประมาณการแล้วน่าจะส่งร่างกฎหมายลูก2ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯได้ประมาณเดือนต้นเม.ย. เมื่อบวกกับระยะเวลาที่ต้องโปรดเกล้าฯลงมาภายใน90 วัน คาดว่า น่าจะประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้ไปยื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาวินิจฉัย 2 เดือน ดังนั้นขั้นตอนการประกาศบังคับใช้กฎหมายอาจล่าช้าออกไป 2 เดือน แต่ยังอยู่ในโรดแมปการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image