กรธ. ยัน หากสนช.มั่นใจร่างกม.ส.ส.ไม่ขัดรธน.ก็จบ ไม่เสนอ “ประยุทธ์” ชงตีความอีก

กรธ. แล้วแต่ สนช.ยื่นไม่ยื่นร่างพ.ร.ป.ส.ส. ยันแค่แสดงความเป็นห่วง หากมั่นใจว่าไม่ขัดรธน.ก็จบ ไม่เสนอ “บิ๊กตู่” ชงศาลตีความอีก

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่สนช.ยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพียงฉบับเดียวว่า กรธ.คงไปบีบบังคับให้สนช.ทำตามข้อห่วงกังวลของกรธ.ทั้งหมดไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจของสมาชิกสนช.แต่ละคนที่จะต้องตัดสินใจเข้าชื่อกันเอง ส่วนเหตุผลของสนช.ที่ไม่ยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เพราะกังวลว่าโรดแมปจะเลื่อนออกไปอีกนั้น คิดว่าก็มีเหตุผล เพราะเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าร่างกฎหมายจะถึงมือนายกฯเพื่อดำเนินตามขั้นตอนอาจจะล่าช้าออกไป และจะกระทบต่อทั้งวันประกาศใช้และวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่แต่ละฝ่ายไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะขณะนี้เริ่มมีคนต่อว่ารัฐบาลแล้วในเรื่องการยื้อวันเลือกตั้ง สนช.จึงยกให้เป็นเรื่องของประชาชนหลังวันที่กฏหมายประกาศใช้

นายอุดม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคงไม่หนักเท่าไหร่ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่เรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการนับคะแนนก็คือ การให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง ซึ่งได้มียกหยิบขึ้นมาคุยกันหลายหน ตั้งแต่ในชั้นกมธ.วิสามัญ จนถึงกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แต่ในเมื่อเสียงข้างมากยืนยัน และที่ประชุมสนช.ก็ลงมติเห็นด้วย เพราะเห็นถึงเหตุผลความจำเป็น กรธ.ก็ต้องเคารพ ส่วนเนื้อหาจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรธ.ตีความเองไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสนช.จะพิจารณา หากไม่มีการส่งตีความ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับประชาชนก็ยังมีสิทธิ หากใครคิดว่า ตนเองมีส่วนได้เสียก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของกรธ.ในประเด็นดังกล่าวมีการอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ระบุ หลักการเลือกตั้งโดยลับว่า จะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบเลยว่า ผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใครนั้น นายอุดม กล่าวว่า เป็นการเทียบเคียงเท่านั้น เพราะในประเด็นที่ผู้อื่นกระทำแทนผู้พิการในขณะเข้าคูหาเลือกตั้งยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยหรือแนวทางปฏิบัติ หากสนช.มองว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็คงพูดอะไรไม่ได้ นอกจากแสดงความเป็นห่วงเท่านั้น ส่วนกรธ.จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่นั้น คิดว่า คงไม่ทำแล้ว ถือว่า เราได้แจ้งต่อสาธารณะชนทราบแล้ว โดยข้อห่วงกังวลดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายที่มีหน้ารับผิดชอบต้องคำนึงถึง เช่นเดียวกับกรธ.ถ้าร่างกฎหมายอะไรพลาดเราก็ต้องพร้อมที่จะเอาหน้าไปรับสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดของเราเหมือนกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image