“ปริญญา” ชี้พรรคเล็กมีรธน.เป็นอุปสรรค เชื่อ คนกลางๆจะเป็นตัวแปรเทเสียงให้คนรุ่นใหม่

“ปริญญา” ชี้ คนมีแนวคิดกลางๆจะเป็นตัวแปรเทเสียงให้พรรคคนรุ่นใหม่ เชื่อกว่า 6 ปีที่ไม่มีเลือกตั้งทำยอดคนหนุ่มสาวมีสิทธิ์มากกว่าทุกครั้ง เป็นสัญญาณเตือนพรรคเก่าต้องปรับตัว มอง พรรคเล็กมีรธน.60 เป็นอุปสรรค เพราะต้องส่งผู้สมัครให้มากเขต เพื่อชิงส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ว่า มีพรรคใหม่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความแตกต่างคือผู้ที่มาตั้งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ใช่นักการเมืองเก่า และมีเป็นจำนวนมากยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัว ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะมีกติกาการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ยากมากกว่าเดิมก็ตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนพรรคการเมืองเก่าว่า ถ้าไม่ปรับตัวจะมีปัญหามาก เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ไม่โมฆะเกิดขึ้นในปี 2554 ดังนั้นในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาทำให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ถ้าพรรคเก่ายังคงวนเวียนอยู่ในการเมืองแบบเก่าแบบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนก็หันไปเลือกพรรคใหม่มากขึ้น

“ผมเชื่อว่า อนาคตจะมีคนเปิดตัวพรรคใหม่มากกว่านี้ ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า คนที่ชอบพรรคการเมืองเก่า จะไม่เลือกพรรคเดิม แต่ตัวแปรของคะแนนเสียงนั้น จะอยู่กับคนที่มีแนวคิดแบบกลางๆที่ไม่ได้ชื่นชอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ผ่านมาถ้าการแก้ไขปัญหาในรัฐสภาสามารถทำได้ ปัญหาการเมืองไทยก็จะไม่มาถึงจุดนี้ ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองเก่าจึงต้องมีการปรับตัว ในอนาคตอาจจะเกิดขึ้น 2 แบบคือ 1.คนหันไปเลือกพรรคใหม่มากยิ่งขึ้น 2.มีพรรคใหม่ที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับขึ้นมา เมืองไทยจะเข้าสู่สภาพ 2 ขั้ว อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มคนที่เชียร์คสช.กับกลุ่มที่ไม่เอาคสช.” นายปริญญา กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคเก่ามีการเปลี่ยนตัวกรรมการพรรค โดยมีการเอาลูกหลานอดีตหัวหน้าพรรคขึ้นมาจะสามารถเป็นภาพลักษณ์ของพรรคได้หรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นนักการเมืองเก่าก็จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ เพื่อช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ต่อคะแนนนิยม แต่ในโลกยุคใหม่ที่มีโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ด้วย 1 เมนท์ 1 แชร์ ดังนั้น การเมืองจึงจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่คาดหวัง ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่โตมากับการเมืองที่มีมาตรา 44 รวมถึงปัญหาการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น จะทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวเพื่อที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

Advertisement

เมื่อถามอีกว่า พรรคการเมืองใหม่จะเป็นไม้ประดับในสนามการเมืองหรือไม่เพราะสังคมไทยยังคงยึดติดในระบบหัวคะแนน นายปริญญา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคเล็กเท่ากับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยที่ผ่านมาเคยมีพรรคเล็กถึง 6 พรรคที่ได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อ โดยที่ไม่มีผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลย เพราะระบบการเลือกตั้งแบบเก่า พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ และสามารถขอคะแนนได้จากทุกเขตเลือกตั้ง แต่ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีการเลือกแบบบัญชีรายชื่อแล้ว โดยคะแนนจะมาจากคะแนนของผู้สมัครแบบเขตนำมารวมกันแล้วคิดเป็นคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่า ถ้าต้องการคะแนนของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็จะต้องส่งผู้สมัคร แบบแบ่งเขตให้มากที่สุด ถ้าขาดเขตไหน เขตนั้นจะไม่ได้คะแนน ดังนั้น กรณีของพรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้คะแนนไปกว่า 9 แสนคะแนน จึงได้ 4 ที่นั่งในรัฐสภา

“ระบบแบบนี้พรรคเล็กจะมีโอกาสก็ต่อเมื่อส่งผู้สมัครให้มากเขตมากที่สุด แต่ก็จะมีอุปสรรคอีกว่า ถ้าเงินทุนในการส่งผู้สมัครไม่ถึง ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน เพราะว่าเอาคะแนนแบบแบ่งเขตมาคำนวณหารที่นั่งส.ส. ทั้ง 500 คน ซึ่งคำนวนคร่าวๆ ว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50 ล้านคน และตีไปว่า มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 75 % เหมือนการเลือกตั้งในปี 2554 หมายความว่าคะแนนในการเลือกตั้งจะมีอย่างน้อย 35 ล้านคะแนน เมื่อไปหารกับ 500 ที่นั่ง ก็จะได้ 75,000 คะแนนต่อที่นั่ง ดังนั้น พรรคเล็กจึงต้องทำคะแนนให้ได้เท่านี้ เพื่อส่งส.ส. ลงในรัฐสภา ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ที่ตามมาอีกเรื่องคือ เมื่อก่อนการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต จะหวังเอาชนะในเขตนั้น แต่คราวนี้จะมีการส่งผู้สมัครแบบไม่หวังชนะ แต่เพื่อเอาคะแนนไปคำนวณในส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีผู้สมัครส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว บัตรเลือกตั้งก็จะยาวขึ้นกว่าเดิม การหาเสียงและความยุ่งยากจะเกิดขึ้นมากมาย” นายปริญญา กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคการเมืองใหม่จะต้องระมัดระวังในการเสนอนโยบายแบบสุดโต่งหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า คนจะเลือกตามนโยบาย ถ้ามีนโยบายที่สุดโต่งก็จะมีแต่คนที่มีแนวคิดที่สุดโต่งมากเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง
ต่อข้อคำถามที่ว่า ด้วยปัจจัยทางกฎหมายต่างๆที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคเล็ก จะเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ที่จะเปิดตัวพรรคใหม่ นายปริญญา กล่าวว่า การเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตัวหารในการหาจำนวนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อคือ 500 แปลว่าจะเป็นสัดส่วนคะแนนต่อ 1 ที่นั่งจึงน้อยลง แต่อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะมีทุนทรัพย์ส่งผู้สมัครหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image