จาตุรนต์หวั่นบุคคลใน ปปท.-ป.ป.ช. ล้วนใกล้ชิด คสช. ไร้หลักประกันจะทำงานตรงไปตรงมา

วันนี้ (21 มีนาคม) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ประเด็นการทุจริตโกงเงินคนจนในแวดวงราชการ เรื่อง โกงเงินคนจน ระบุว่า

ข่าวการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือการโกงเงินคนจนที่กำลังอื้อฉาว ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้การบริหารของรัฐบาลและ คสช. ที่อ้างว่าเข้ามาปราบโกง

แน่นอนว่า สังคมย่อมให้ความสนใจ อยากรู้ว่ายังมีการทุจริตในโครงการนี้อีกมากมายแค่ไหน แต่เรื่องน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน อาจเป็นปัญหาว่าเรื่องนี้กำลังสะท้อนอะไร กำลังบอกอะไรแก่เรา

คำถามแรก คือ ทำไมเจ้าหน้าที่จำนวนมาก จึงเข้าไปเกี่ยวข้องการทุจริตชนิดที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายกันเลย หรือเขามีประสบการณ์ว่า มีการทุจริตอยู่มากมาย แต่ก็ไม่เห็นมีใครถูกลงโทษ ส่วนที่มีการลงโทษกันไป ส่วนใหญ่ทำโดยคำสั่ง คสช.นั้น ก็เกิดขึ้นโดยไม่มีการสอบสวนเสียก่อน

Advertisement

คนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยถูกลงโทษไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ต่อมาบางคนที่ถูกสอบสวนพบว่า ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็เสียอนาคตไปแล้ว และก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ กลายเป็นว่าคนทำผิดไม่เห็นถูกลงโทษ แต่คนบริสุทธิ์กลับถูกลงโทษ หาหลักหาเกณฑ์อะไรไม่ได้

เรื่องทุจริตโกงเงินคนจนนี้ ที่ถูกเปิดโปงโดยนักศึกษาซึ่งไปพบปัญหาเข้า เมื่อพบปัญหาและเปิดเผยเรื่องนี้แล้ว นักศึกษาผู้นี้ต้องเผชิญกับอะไรบ้างก็เรื่องหนึ่ง แต่องค์กรที่ตรวจสอบเรื่องนี้ต่อและเปิดเผยว่า มีการทุจริตมากขึ้นๆ คือ ป.ป.ท.

ไม่มีใครรู้ว่า ถ้าไม่มีการโวยเรื่องนี้ขึ้นมา จนเป็นที่สนใจของสังคมแล้ว ป.ป.ท.จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ตามข่าวก็จะพบว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับไม่สูง นายกรัฐมนตรีก็รีบฉวยโอกาสบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องทุจริตในระดับนโยบาย จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า เมื่อไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย จึงทำให้ ป.ป.ท.ยังแข็งขันต่อเรื่องนี้ หากเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงนโยบายรัฐบาล ป.ป.ท.ยังจะแข็งขันต่อไปหรือไม่ ?

Advertisement

โยงไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้วโครงการที่ส่งเงินหลายหมื่นล้านบาทลงไปในท้องที่ต่างๆ แบบเร่งรีบ ประเภทคำสั่งไปถึงวันศุกร์ บอกให้เสนอโครงการวันจันทร์ จัดประชุมกันมีงบประมาณค่าอาหารค่าน้ำ แล้วก็ดำเนินการทันที โครงการจะรั่วไหลหรือสูญเปล่าอย่างไร ? ไม่เป็นไร ป.ป.ท.ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถ้ายังไม่ตรวจสอบ เป็นเพราะอะไร หรือเป็นเพราะโครงการประเภทนี้สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงได้ถึงผู้บริหารระดับสูงและเป็นเรื่องทางนโยบาย

ที่ตั้งคำถามอย่างนี้ ก็เพราะ ป.ป.ท.นี้เป็นองค์กรสังกัดฝ่ายบริหารของกระทรวงยุติธรรม และในยุค คสช.นี้ องค์กรแบบนี้ยังขึ้นต่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติและศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตฯ ซึ่งล้วนเป็นฝ่ายบริหารที่ คสช.มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารอีกต่อหนึ่ง เรื่องไหนที่จะโยงไปถึงฝ่ายนโยบายและผู้มีอำนาจ ย่อมมีคำถามได้ว่า ป.ป.ท.จะถูกสั่งให้ทำหรือไม่ทำหน้าที่ของตน ใช่หรือไม่?

ในแง่ของการถ่วงดุลในระบบแล้ว หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องไปถึงผู้บริหารระดับสูงหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายรัฐบาล ถ้า ป.ป.ท.ไม่เข้าไปตรวจสอบด้วยเหตุใดก็ตาม หน่วยงานอื่น โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่าง สตง.และ ป.ป.ช.ก็ต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรง แต่ก็พบปัญหาการขาดความเป็นอิสระขององค์กรเหล่านี้อีก โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ ก็ได้รับการยกเว้นโดยกฎหมายไม่ต้องใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปอีกหลายปี

ซ้ำร้ายบุคคลสำคัญในองค์กรนี้ ยังเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช.และรัฐบาลอีกด้วย ย่อมไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าทั้ง ป.ป.ท. และองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช.จะดูแลเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า

ยิ่งมีข่าวว่า เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมากเท่าไร สังคมก็ยิ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่ายังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครตรวจสอบอีกมากมายเพียงใด และตราบใดที่ระบบยังลักลั่นและลูบหน้าปะจมูกอยู่อย่างนี้ ก็คงไม่มีใครไว้ใจได้เลยว่า ประเทศจะไม่เสียหายไปกับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มากขึ้นทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image