‘มีชัย’เอ่ย’ขอโทษ’สปท.กลางที่ประชุม หลังทำสะเทือนใจ หั่นวาระไม่บอกล่วงหน้า

แฟ้มภาพ

“มีชัย” แจงร่างฯขอโทษทำ สปท.สะเทือนใจ หั่นวาระโดยไม่บอกล่วงหน้า เหตุฉุกละหุก ยันรัฐธรรมนูญยึดประโยชน์ปชช.เป็นหลัก ชี้หากเลือกไขว้ส.ว.สรรหาล้มเหลว ไม่ต้องแก้รธน. ยันระบบเลือกตั้งใบเดียวแก้โกงได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับฟังการขี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้ ครม.แล้ว โดยทำร่างรัฐธรรมนูญเป็น 2 ขยัก คือ ร่างเบื้องต้นวันที่ 29 มกราคม 59 เพื่อรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข ขณะนี้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีจำนวน 279 มาตรา โดยได้วางหลักการเรื่องประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ มุ่งให้เกิดความทัดเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ การคุ้มครองป้องกันสิทธิประชาชน โดยบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ดำเนินการเช่น การจัดให้ทุกคนได้รับการศึกษา การเปิดเผยข้อมูลทางราชการที่ไม่ใช่ความลับ รวมถึงมีหลักประกันให้ประชาชนมีสิทธิติดตาม เร่งรัด และฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

นายมีชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้มีกลไกป้องกันคนไม่สุจริตเข้าสู่การเมือง มีลักษณะต้องห้าม 15-16 ข้อ เชื่อว่าประชาชนคงอยากเห็นการเมืองใสสะอาดเป็นที่ตั้ง ส่วนที่ระบุว่า กรธ.ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากไป โดยมีอำนาจชี้ขาดในกรณีไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใช้บังคับนั้น กรธ.ปรับใหม่เป็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกองคาพยพทุกฝ่ายมาประชุมกันว่า จะเดินหน้าหาทางออกกันอย่างไร ขณะเดียวกันยังกำหนดให้การออกกฎหมายจำเป็นอาทิ เรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลัง การกระทำที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้หน่วยงานรัฐดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หากทำไม่เสร็จ หัวหน้าหน่วยงานนั้นต้องรับผิดชอบ ดังนั้นหัวหน้าส่วนราชการต้องกลับไปอ่านบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้ดี และรีบลงมือปฏิบัติตาม

“ส่วนบทเฉพาะกาล กรธ.ได้เพิ่มเติมตามคำร้องของ คสช. ครม. โดยเฉพาะเรื่องอำนาจ ส.ว.สรรหา 250 คน ที่ไม่ได้ก้าวล่วงการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่การปรับเปลี่ยนวาระการทำงานของ สปท. ให้เหลือ 120 วัน นับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ปีนั้น เนื่องจาก เมื่อ กรธ.ได้รับสาระสำคัญของการปฏิรูปแล้ว พบว่ามีการศึกษาไปไกลจนถึงขั้นที่ต้องลงมือทำแล้ว ดังนั้น กรธ.จึงกำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการทำประชามติ ก็ให้ สปท.ทำงานไปพลางๆ ก่อน แต่เมื่อมีการได้องคาพยพและตัวบุคคลที่จะมาลงมือทำการปฏิรูปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 259 แล้ว สปท.ก็ต้องหมดไป ผมต้องขอโทษที่ไม่ได้บอกให้ท่านสมาชิก สปท.ทราบก่อน เพราะช่วงท้ายฉุกละหุกมาก ในฐานะที่เป็นแม่น้ำร่วมกัน ก็ถือว่าผิดพลาดที่ไม่ได้เรียนให้ทราบ” นายมีชัยกล่าว

Advertisement

จากนั้น เข้าสู่ขั้นตอนการให้สมาชิก สนช.และ สปท.ซักถามข้อสงสัย โดยมีสมาชิก สนช. 3 คน แสดงความประสงค์ขอซักถาม อาทิ นายสมชาย แสวงการ ที่สอบถามถึงกลไกในบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ระบุว่า เป็นห่วงว่าสิ่งที่ขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญ คือ การถอดถอนนักการเมือง เหตุใดจึงไม่มีการเอาผิดนักการเมืองที่ลุแก่อำนาจ และอาศัยอำนาจนิติบัญญัติช่วยเหลือกัน รวมถึงการเลือกไขว้ส.ว.ระหว่างกลุ่มอาชีพ 50 คน หากทดลองใช้แล้วล้มเหลวจะทำอย่างไร

โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ชี้แจงว่า การเลือก ส.ว.ทางอ้อม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนของอาชีพมาสมัครได้และเลือกไขว้กันเองระหว่างกลุ่มอาชีพ ซึ่งจะเลือก 3 ชั้น ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ไม่สามารถฮั้วกันได้ง่ายๆ และจะมีรายละเอียดการป้องกันบล็อกโหวตอยู่ในกฎหมายลูกต่อไป ถือว่า มีกลไกป้องพอสมควร ส่วนที่บอกว่า ถ้าระบบ ส.ว.เลือกไขว้ 50 คน ไม่ดีจะทำอย่างไรนั้น อย่าเพิ่งไปคิด ขอให้ลองดูก่อน แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็แก้รัฐธรรมนูญได้อยู่

ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากการเลือก ส.ว.แบบไขว้แล้วล้มเหลว ไม่ได้อย่างที่คาดไว้ คงไม่ต้องถึงกับแก้รัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 107 หากดูดีๆ เป็นกฎหมายที่สามารถแก้ปัญหาได้ตลอดเวลาและทุกเรื่อง ถ้าเกิดอะไรที่ไม่คาดหวังไว้ก็สามารถปรับปรุงสิ่งที่เกิดขึ้น ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image