ภาพรวมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง

หมายเหตุ – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ
ด้านการเมือง ในส่วนที่ 1 ภาพรวมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

ส่วนที่ 1
บริบทตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257
ได้บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศและกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศไว้ ดังต่อไปนี้
(1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
(2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
(3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองได้นำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง กระทรวงกลาโหม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง
สถานการณ์และแนวโน้มภายใน
สภาพปัญหาทางการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยที่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง และเหตุการณ์ในลักษณะนี้ได้วนเวียนมาอย่างยาวนานตลอดช่วงเวลาของการเป็นประเทศประชาธิปไตยของไทย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา นับเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนาน และมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งจำนวนมาก ประชาชนมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายและไม่เป็นมิตรต่อกัน โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างความชอบธรรมในอำนาจปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากความเชื่อ ทัศนคติ และความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นักการเมืองขาดคุณสมบัติและจริยธรรม และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน มีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ พรรคการเมืองถูกครอบงำจากนายทุน
สภาพปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และแม้จะมีการใช้มาตรการบังคับลงโทษทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองดังกล่าว แต่ปัญหาก็มิได้ทุเลาเบาบางลง เนื่องจากประชาชนในประเทศยังมีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมแบบดั้งเดิมคงอยู่ แม้ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกมามากกว่า 80 ปีก็ตาม แต่ยังไม่ทำให้การปฏิรูปประเทศทางการเมืองเกิดผลสัมฤทธิ์ และยังคงมีความพยายามสร้างประชาธิปไตยในแบบของไทย โดยยึดหลักประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นพื้นฐานและผสมผสานให้เกิดความยืดหยุ่นกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยให้มีความผสมกลมกลืนและเหมาะสมกับสังคมไทยมากขึ้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาชนยังคงให้ความเคารพเทิดทูนในฐานะที่เป็นพสกนิกรของพระมหากษัตริย์
ดังนั้น รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันและในอนาคต สถาบันพระมหากษัตริย์จะยังคงมีความยั่งยืนและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนต่อไป นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นสถาบันที่สร้างความชอบธรรมและเสมือนดั่งผู้ให้การรับรองในเรื่องต่างๆ และให้การทำงานเพื่อบ้านเมืองสามารถดำเนินการไปได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม เช่น กรณีการยึดอำนาจรัฐประหารซึ่งหลังจากการยึดอำนาจแล้ว คณะที่ทำการรัฐประหารจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆ และการแต่งตั้งผู้นำรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าไปบริหารบ้านเมืองต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เป็นต้น
นอกจากนั้น ในพื้นฐานเดิมที่เกี่ยวกับทางด้านการเมืองของประเทศไทยไม่ได้อ่อนแอไปเสียทั้งหมด แต่ยังมีแนวคิดและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ที่ทำให้การบริหารบ้านเมืองดำเนินไปด้วยดีหลายประการ เช่น การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้รักสามัคคี การเคารพผู้อาวุโสทางการเมืองในลักษณะวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้อง (Seniority) ในขณะเดียวกันก็ยังรับฟังและให้เกียรติผู้อ่อนอาวุโสทางการเมือง ซึ่งผู้ใหญ่ทางการเมืองมีบทบาทให้คำปรึกษาแนะนำคลี่คลายปัญหาหรือข้อขัดแย้งทางการเมือง พรรคการเมือง โดยการสร้างวัฒนธรรมพูดคุยหาทางออกของปัญหาร่วมกัน มีธรรมเนียมการขอโทษและให้อภัยกันภายใต้การแข่งขันทางการเมืองหรือการทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง รวมทั้งยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองในลักษณะของความเชื่อที่ว่า ก่อนการเลือกตั้งคือการเมือง หลังการเลือกตั้งคือบ้านเมืองŽ เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับหลักการทำงานของคนไทย และวัฒนธรรมทางการเมืองเหล่านี้มีส่วนทำให้การพัฒนาทางการเมืองของไทยดำเนินไปด้วยดี
ดังนั้น การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของไทยจึงต้องมีการผสมผสานรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งที่เป็นแบบตะวันตกและแนวคิดแบบตะวันออกเข้าด้วยกัน รวมทั้งผสมผสานกับวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีของไทยมาเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดเสถียรภาพ มีความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

ความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ
1 ความสอดคล้องของการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ วิสัยทัศน์ ระยะเวลา 20 ปี ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงŽ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง แนวทางและประเด็นการพัฒนา
1.1 การรักษาความสงบภายในประเทศ
1.1.1 เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้มีความจงรักภักดีและธำรงรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม
2 ความสอดคล้องของการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกับแผนแม่บทตามแผนยุทธศาสตร์ชาติรอแผนแม่บท

Advertisement

เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ
วัตถุประสงค์รวม
1) เพื่อให้ระบอบการเมืองการปกครองของไทยมีความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง มีความมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป
2) เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองในสังคมไทย
เป้าหมายรวม
1) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด
2) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรม ทางการเมือง และการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
3) มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
4) มีกลไกที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
5) มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตัวชี้วัด
(1) ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีการยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระ
(2) พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรมเข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(3) พรรคการเมืองมีกลไกความรับผิดชอบในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
(4) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(5) การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน
(1) หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนงาน โครงการและงบประมาณประจำปี
(2) หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินงานตามแผนและประเมินผลการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้
(3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
(4) หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานผลการดำเนินงานมายัง สศช.
(5) สศช.รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานของหน่วยงานต่างๆ และจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน
(6) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินงานและนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ

Advertisement

ข้อเสนอในการมีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการ
(1) รัฐบาลควรสนับสนุนให้ออกพระราชบัญญัติการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. …
(2) ควรจัดให้มีสถาบันหรือองค์กรคลังปัญญากลาง (Think Tank) เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา วิจัย และสร้างสรรค์สติปัญญา เพื่อเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปและพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่องและเป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองทุก 5 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image