‘สมบัติ’อัดรธน.ล้าหลัง ซัดปิดกั้นคนเห็นต่างพูด อย่าเรียกทำประชามติดีกว่า

“อดีตสปช.” ชี้รธน.ล้าหลังไม่พัฒนาคน ซัด หากปิดกั้นคนเห็นต่างแสดงความเห็น อย่าเรียกประชามติดีกว่า

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนแบ่งร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ออกมาเป็น 2 ภาค คือ บทถาวร และบทเฉพาะกาล ซึ่งตนไม่มีความเห็นในบทเฉพาะกาล ที่จะใช้ชั่วคราวแค่ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่บทถาวรที่จะใช้ตลอดไปน่าคิด ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าร้ายจะเกิดปัญหาแน่ จากเงื่อนไขที่มีทำให้แก้รัฐธรรมนูญได้ยาก อย่างเช่น มาตรา 54 ว่าด้วยเรื่องการศึกษา ที่ กรธ.เขียนล้าหลังกว่าปี 50 ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ยุ่งยากต่อการจัดการ คนจนเดือดร้อน ไม่เท่าเทียม ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้าหลังเรื่องการพัฒนาคน

นายสมบัติกล่าวต่อว่า ส่วนการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติว่า ธรรมชาติของการทำประชามติ มีทั้งฝ่ายเอาด้วยกับเห็นต่างอยู่แล้ว จึงต้องทำตามหลักการสากล เปิดให้ทั้งกลุ่มรับและไม่รับร่าง บอกเหตุผลตนเอง ถ้ามีการห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อย่าทำ อย่าเรียกประชามติจะดีกว่า อย่างไรก็ตามอย่าไปกังวล เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมาตรา 44 อยู่จะกลัวอะไร ถ้าใครป่วนก็ใช้จัดการได้ ส่วนการหารือของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเสนอคำถามพ่วงประชามติไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรเสนอคำถามใดๆ พ่วงไปกับการทำประชามติ เพราะไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะแนวคิด สปท.ที่จะชงคำถามให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯได้ นั้น ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย อำนาจเป็นของปวงชน ถ้าจะให้ ส.ว.โหวตนายกฯได้ ก็ต้องให้มาจากการเลือกตั้งตรงทั้งหมด หากผิดไปจากนี้ อย่ามาอ้างประชาธิปไตย ถ้าจะเขียนให้ ส.ว.สรรหาโหวตเลือกนายกฯก็เขียนได้ แต่จะไม่สอดคล้องหลักการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image