“ทรงศักดิ์” ถามพลังประชารัฐมีจุดขายอะไร จี้ รบ.ถ้าเชิญพรรคการเมืองไปหารือ ควรบอกวันเลือกตั้งด้วย

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค รวมถึงกระแสข่าวนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจเข้าไปร่วมพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า ถือเป็นแนวทางตามธรรมชาติของพรรคการเมืองที่ต้องหาต้นทุนทางผู้สมัครหรือแนวร่วม เพราะคนที่เป็นนักการเมืองจริงๆ ต้องเป็นบุคคลเฉพาะ ไม่ได้มีอยู่เกลื่อนกลาดในตลาดเหมือนบุคคลทั่วไป พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องลงไปดูทิศทางว่าพรรคจะเดินได้แค่ไหน ตนจึงมองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้น เพราะที่สุดแล้ว ผู้สมัครจะไล่ลำดับเลือกเองว่าพรรคการเมืองใดที่เข้าไปอยู่แล้วจะได้ประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุด การวิเคราะห์ต้องพิจารณาตามภูมิภาค โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งมีไหม จุดอ่อนอยู่ตรงไหน อย่างพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคกลางๆ แรงต้านจึงน้อย คนที่จะลงสมัครพรรคใดต้องคิดแล้วว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ไม่มีใครจะไปอยู่ในพรรคการเมืองที่มีแรงต้าน

“ในภาคอีสาน ถ้าบอกว่าเป็นเพื่อไทย คนจะสนใจเยอะ รองจากเพื่อไทยก็เป็นภูมิใจไทยแล้ว ล้านเปอร์เซ็นต์ พรรคประชาธิปัตย์มีแรงต้านเยอะในอีสาน แต่เขามีพื้นฐานอยู่ทางภาคใต้ แต่พลังประชารัฐ ผมไม่รู้ว่าเขามีจุดขายอะไรมานำเสนอให้คนที่สนใจการเมืองเข้าไปร่วมหรือให้ประชาชนตัดสินใจ ความเป็นพรรคทหารหรือเปล่า หรือคือการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เขาก็ต้องเอาจุดนี้ไปขายอย่างเดียว แล้วคนอีสานจะคิดอย่างไร ผมยังฟันธงไม่ได้ เห็นแค่จากข่าวว่ามีกลุ่มหนึ่งที่พยายามหยั่งเสียง ไปหาแนวร่วม ต้องรออีกระยะจึงจะเห็นความชัดเจน อย่างไรก็ดี การลงไปดูแนวร่วมไม่ใช่เรื่องเสียหาย” นายทรงศักดิ์กล่าว

นายทรงศักดิ์ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องส่งผู้สมัครครบ 350 เขต เพราะคะแนนคำนวณมาจากผู้แทนเขต ดังนั้น ภูมิใจไทยคงไม่ทิ้งเป้าหมายทางภาคใต้ และต้องสรรหาผู้สมัครให้ครบทุกเขต พรรคมีเหรัญญิกคือ ดร.นาที รัชกิจประการ ที่ทำหน้าที่หยั่งเสียงและพิจารณาตัวผู้สมัครทางภาคใต้อยู่ ในส่วนของตน เพิ่งเดินทางไปยังหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น พัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง โดยที่ จ.ตรัง ตนได้พูดคุยกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คนหนึ่งที่ไม่ใช่อดีตพรรคประชาธิปัตย์ เขาแสดงความสนใจพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด ส่วนเรื่องนโยบายและการเข้าถึงประชาชนจะชัดเจนขึ้นหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อก การลงพื้นที่ในช่วงเวลานี้จึงดูเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับมติพรรค จะตีความว่าขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ก็ยังหมิ่นเหม่อยู่

ส่วนกรณีที่ คสช.และรัฐบาลเตรียมให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญพรรคการเมืองเข้าหารือเรื่องการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนนี้ นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าหัวข้อการหารือมีเรื่องใดบ้าง ต้องคุยนอกรอบกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรองหัวหน้าพรรคก่อน ไม่สามารถตอบด้วยตัวเองได้ ตามจริงแล้ว ถ้ารัฐบาลชวนหารือเรื่องแนวทางที่ทำให้การไปสู่การเลือกตั้งราบรื่น รวดเร็ว พรรคการเมืองควรให้ความร่วมมือ หากมีปัญหาอุปสรรค พรรคการเมืองควรไปแสดงความคิดเห็น เพราะในที่สุด คนที่จะตัดสินใจทางการเมืองคือประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล แต่รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจว่าจะจัดเลือกตั้งวันไหน เป็นปัญหาที่ต้องทำให้ชัดเจน เชิญนักการเมืองไปหารือแล้วก็ควรให้รู้วันเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะได้เตรียมตัวได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image