‘มาร์ค’ชี้ผู้มีอำนาจแทรกแซงเลือกตั้ง อันตรายไม่ต่างจากซื้อเสียง

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า การเมืองในประเทศไทยถ้าเราไม่ยึดตัวระบบถ่วงดุลให้เกิดความพอดี ถ้าพูดกันตรงๆตอนนี้มาตรา 44 ใหญ่กว่าทุกอย่าง ความจริงศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความต่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ก็ทำให้เราเริ่มศูนย์เสียตัวระบบว่าถ่วงดุลจริงหรือไม่ เวลามีพี่ใหญ่ใช้อำนาจเหนือทุกอย่างบางเรื่องก็ถูกใจ ก็ยอมรับ บางที่ก็สะใจว่ามันง่าย รวดเร็ว แต่ความสะใจ พอใจในกรณีนั้นเป็นการเปิดทางให้ไปทำอะไรอีกหลายอย่าง ถึงวันนั้นอาจจะบอกว่าไม่ใช่ เมื่อจะไปต่อต้านอาจมีคนบอกว่าวันที่คุณสนับสนุน การที่เขาทำแล้วถูกใจก็จะมาค้ำอยู่ ดังนั้นโดยส่วนตัวตนถึงพยายามบอกว่าบางทีสังคมก็ต้องอดทน ระบบที่มีการถ่วงดุลอาจจะช้า ไม่สะใจเสมอไป แต่จะเป็นหลักประกันที่ดีกว่า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องการใช้มาตรา 44 กับองค์กรอิสระทั้งหลาย โดยเฉพาะกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่าจะอยู่ขั้วไหนคิดว่าทุกคนเห็นน่าจะตรงกันว่าการเมืองประเทศไทยถ้าจะเดินไปข้างหน้า 1.ต้องมีเลือกตั้ง และ2.ถ้าเริ่มจากเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ตนว่าไม่มีทางที่การเมือจะดีขึ้น บางยุคบางสมัยบอกว่าเราคิดแต่เรื่องการซื้อเสียง แต่การใช้อำนาจรัฐหรือการใช้อื่นเข้ามาแทรกแซงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการซื้อเสียง และเหตุผลที่มีกกต.มาตั้งแต่ต้นเพราะทุกคนบ่นว่ารัฐเข้าไปเข้าไปมีส่วนได้เสียเพราะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อมีกกต.ที่เขาบอกว่าเป็นอิสระ แล้วเรายังเปิดโอกาสให้คนใช้อำนาจบริหารเข้าไปแทรกแซง ชี้นำได้ สุดท้ายก็กลับไปสู่ปัญหาเดิมว่าการเลือกตั้งไมสามารถปราศจากการแทรกแซงของการใช้อำนาจรัฐ ทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรมก็จะกลายเป็นปัญหาความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยอีก

เมื่อถามว่าเมื่อมาตรา 44 ออกโดยคสช. การที่คสช.จะลงเล่นการเมืองจะดูน่าเกลียดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้ไม่มีส่วนในการเลือกตั้ง ตนยังลังเลว่าจะสามารถใช้อำนาจมาแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระได้ เพราะทำให้ไม่เป็นอิสระ แต่ยิ่งบอกว่าคนที่ใช้อำนาจอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ยิ่งเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น และรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดว่าหากจะลงเล่นการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องลาออก 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศ ซึ่งก็ชัดเจนว่าป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีหัวหน้าคสช.ก็ลงส.ส.ไม่ได้แล้ว แต่ตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ 1ใน 3 รายชื่อ แล้วเจ้าตัวยินยอม แต่คงไม่ค่อยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเท่าใด เพราะชัดอยู่แล้วว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จึงทำให้ตนมีความรู้สึกว่าในเรื่องของข่าวจะมีการตั้งพรรคโดยเอารัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค เป็นรูปแบบที่แปลกเพราะรัฐมนตรีทั้ง 2 คนไม่สามารถลงส.ส.ได้ และไม่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯด้วย คำถามคือ ทำไมต้องเอาคนที่มีอำนาจอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ ในกระทรวงอุตสาหกรรม มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image