ไม่แฮปปี้!

ไม่แฮปปี้!

การล้มกระดานสรรหา กสทช.ส่งนัยประหวัดถึงการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคล
ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. 7 คนก่อนหน้านี้

แท้จริงแล้ว เป็นการใช้วิจารณญาณตัดสินใจเองโดยอิสระของ สนช.

หรือมีใบสั่ง ส่งสัญญาณ ขีดเส้นใต้กำกับโดยบุคคลที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้กันแน่

Advertisement

อย่างที่นายกรัฐมนตรีไม่แฮปปี้

กระทั่ง สนช.ลงมติ 118:25 ไม่เลือกรายชื่อ แคนดิเดต กสทช. ที่กรรมการสรรหาเสนอมาในที่สุด

เหตุผลเบื้องหน้า ทั้งกรณี กกต.และ กสทช.ที่เสนอขึ้นมาก็คล้ายกัน นั่นคือ สนช.ส่วนมากไม่มั่นใจในฝีมือผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. เพราะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งว่าที่ กกต.ที่มาจากการเสนอชื่อของ
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจมีปัญหาเรื่องที่มา การเสนอหาถูกต้องหรือไม่

เพื่อตัดปัญหา สนช.จึงมีมติไม่เห็นชอบทั้ง 7 รายชื่อ

ในขณะที่ กสทช.นั้น ระบุเหตุผลไม่อาจรับได้ เนื่องจากมี 8 คนจากทั้งหมด 14 คน
ขาดคุณสมบัติ

แต่เหตุผลที่มีน้ำหนักมากสุดต่อการตัดสินใจ เป็นไปได้ว่ามาจากนายกรัฐมนตรี
ไม่แฮปปี้

คณะกรรมการสรรหา กสทช.ด่านคัดกรองคุณสมบัติด่านแรก 7 คน องค์ประกอบ
คือ 1.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ได้รับคัดเลือกคือ อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ
สรรหา 2.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

3.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 4.ป.ป.ช.ที่ได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมคณะกรรมการ 5.กรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน โดยได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุม 6.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 7.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนคณะกรรมการสรรหา กกต. (5 คน) นั้นเล่าก็มี ประธานศาลฎีกา ประธาน สนช.
ประธานศาลปกครองสูงสุด ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ฉะนั้นการหยิบยกเหตุผล เรื่องคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการสรรหามาเป็นเงื่อนไข ไม่เลือก
รายชื่อ หรือมีมติไม่เห็นชอบ จึงเป็นคำถาม

ที่เป็นคำถามก็เพราะ คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นมากลั่นกรองคุณสมบัตินั้น ล้วนแล้วแต่ระดับท็อป เจนจัดระดับมือเทพกฎหมายทั้งสิ้น

เป็นไปได้อย่างไร ที่ยอมให้ปล่อยผ่านง่ายๆ และเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริหาร จัดการเลือกตั้งเสนอต่อ สนช. เลือกบุคคลคุณสมบัติต้องห้ามเป็น กสทช. มีผลประโยชน์ทับซ้อน เสนอต่อ สนช.

ถ้าเป็นไปไม่ได้ จะมีเหตุผลอื่นใดนอกเสียจากนายกรัฐมนตรีไม่แฮปปี้

จริงอยู่ การที่ สนช.ตัดสินใจ ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่ว่าด้วยการโหวตล้มกระดาน หรือการตีตกด้วยการไม่เลือกรายชื่อนั้น

อาจช่วยลบภาพตรายาง ฝักถั่วได้บ้าง

แต่ก็ไม่อาจรวบรัด เหมาอธิบายความอย่างนั้นได้ ว่าเป็นการตัดสินใจอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติใคร

เมื่อการลงมติล่าสุด มีเบื้องหลังเผยแพร่เป็นคลิปออกมา

เพื่อชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจมีที่มา-ที่ไป

เรื่องต่างๆ นานา ที่ยกมาเป็นเหตุแห่งความไม่แฮปปี้นั้น ดูผิวเผินการล้มกระดาน สกัดบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาทำหน้าที่เสียแต่วันนี้ อาจเป็นเรื่องดี ในการตัดไฟ ระงับยับยั้งความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แต่การตัดสินใจ เพียงเพราะใครคนใดคนหนึ่งไม่แฮปปี้ ถือว่าอันตราย และทำลายระบบ

หากต้องโหวตเลือก ให้ความเห็นชอบบุคคลเฉพาะที่นายกรัฐมนตรีแฮปปี้เท่านั้น

การสรรหาก็แทบไม่มีความหมาย

สนช.ก็ไร้ความหมาย มีหรือไม่มีก็ได้ ค่าเท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image