จาก”น้องเพนกวิน ถึง อาจารย์อุดม”โต้ ปมตัดสิทธิเรียนฟรี ม.ปลายในรธน.

วันนี้ (2 เม.ย.) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แสดงความเห็นกรณีนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ชี้แจง กรณีการร่างรัฐธรรมนูญและถูกวิจารณ์ในเรื่องการตัดสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาย โดยระบุว่า

ตอบอาจารย์อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กระผมได้อ่านถ้อยแถลงที่อาจารย์ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเอาใจใส่ประเด็นการศึกษา แต่กระผมเห็นว่าความเอาใจใส่ของอาจารย์และ กรธ. ท่านอื่นอาจยังไปไม่เข้ารูปเข้ารอบนัก กระผมจึงขอบังอาจแสดงความคิดเห็นถึงอาจารย์ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ดังที่อาจารย์ได้กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญตัดสิทธิเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย/สายอาชีพจะช่วยให้เด็กอีกกว่า 3,000,000 คนมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาก่อนวัยเรียน (อนุบาล) แต่อาจารย์ต้องอย่าลืมว่าในช่วงปัจจุบัน (อ้างอิงสถิติของปี 2557) มีนักเรียนเพียงร้อยละ 63 เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเต็มจำนวน และเชื่อว่าจะลดลงกว่านี้มากหากสวัสดิการเรียนฟรี ม.ปลาย/สายอาชีพถูกกระทบกระเทือน นั่นเท่ากับว่าในนักเรียนสามล้านคนที่ท่านจะส่งให้เรียนอนุบาล จะมีนักเรียนเกือบ 2,000,000 คนที่จะถูกทอดทิ้งระหว่างทาง และจำนวนจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้หากนับรวมทั้งระบบการศึกษา เมื่อถึงเวลานั้น คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถรับผิดชอบต่อสถานการณ์ได้หรือไม่

ประการที่สอง อาจารย์ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามรัฐบาลไม่ให้จัดสวัสดิการ ม.ปลาย ฟรี แต่การกระทำของ กรธ. เช่นนี้คือการทำลายหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนจบตามความต้องการ และเป็นการเอาสวัสดิการเรียนฟรี ม.ปลาย/สายอาชีพไปแขวนบนนโยบายที่นักการเมืองจะใช้หาเสียง แทนที่จะเป็นสิทธิเต็มขั้นที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ ในขณะที่ กรธ. กล้าให้หลักประกันกับการศึกษาภาคปฐมวัย ทำไมท่านจึงไม่ยอมให้หลักประกันเช่นนี้กับสวัสดิการการศึกษาฟรีช่วง ม.ปลาย/สายอาชีพบ้าง

Advertisement

ประการสุดท้าย อาจารย์ได้กล่าวว่าจำเป็นต้องสนับสนุนการศึกษาปฐมวัยเพื่อปลูกฝังทัศนคติในการอยู่ร่วมกับสังคมให้เด็ก กระผมขอถามว่า “ทัศนคติ” ในความหมายของอาจารย์หมายถึงอะไร เพราะเหตุใดท่านจึงคิดว่าการศึกษาปฐมวัยมีไว้ปรับทัศนคติของเด็ก กรธ. เข้าใจคำว่าการศึกษาภาคปฐมวัยอย่างไร และสามารถแยกความแตกต่างระหว่าง “การศึกษาภาคปฐมวัย” กับ “การล้างสมอง” ได้หรือไม่

กระผมมิได้มีความโกรธเคืองโดยส่วนตัวต่อท่านอาจารย์อุดมและคณะ แต่หวังว่า ท่านจะได้รับทราบข้อกังขาและข้อเสนอแนะของผม ดังที่ได้เขียนไว้ ณ ที่นี้

พริษฐ์
ศิษย์ไม่รักของอาจารย์
2 เมษายน 2559

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image