คสช.คุมเชิง ประชามติ รับ-ไม่รับ รธน.ต้องผ่าน

โรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผ่านไปอีกขั้น

ตามโรดแมปเดิม พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แล้วนำประเทศสู่การเลือกตั้ง

คืนความสุขคนไทย!

แต่ปรากฏว่า โรดแมปเดิมเกิดสะดุด เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานตกไป

Advertisement

โรดแมปจึงต้องขยาย

คราวนี้นายมีชัยเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ และได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จสิ้น ส่งมอบให้คณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคมตามกำหนด

ต่อไปทุกอย่างจะไปโฟกัสกันที่การประชามติ

Advertisement

รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

 

แม้ก่อนหน้าร่างรัฐธรรมนูญจะส่งมอบให้กับคณะรัฐมนตรี สถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญคล้ายกับจะปั่นป่วน

เมื่อคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีข้อเสนอปรับแก้ไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

แต่นายมีชัยออกอาการ!

กระทั่งมีกระแสความขัดแย้งในแม่น้ำ 5 สายขึ้นมา

ยิ่งเมื่อ กรธ.นำข้อเสนอของ คสช.ไปดัดแปลง ดึงดันที่จะแทรกสัดส่วนที่มา ส.ว. จากการสรรหาทั้งหมดเป็นการแซมการเลือก ส.ว.ตามแบบที่ กรธ.นำเสนอด้วย

จาก ส.ว. 250 คน ให้สรรหา 200 คน อีก 50 คนให้เลือกตามที่ กรธ.กำหนด

ส่วน 6 ตำแหน่งที่จะเปิดไว้ให้ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพนั้นไม่ระบุตายตัว

ยิ่งกระพือข่าวคราวความขัดแย้งให้กระจายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพียงชั่วอึดใจกระแสความขัดแย้งระหว่าง กรธ. กับ คสช. ก็คลี่คลายลง เพราะหลังจาก กรธ. เปลี่ยนแปลงข้อเสนอเพียงแว้บเดียว

กรธ.ก็กลับมารับข้อเสนอ คสช. เสียแล้ว

ทั้งการแก้ไขที่มา ส.ว. ทั้งการเปิดโควต้า 6 เก้าอี้ให้ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

เป็นการรับข้อเสนอภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานเสียง

ตัดแก้ไขตามที่ คสช.ร้องขอ

เวลา 13.39 น. วันที่ 29 มีนาคม นายมีชัยจึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ออกเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมีทั้งสิ้น 279 มาตรา

ตรวจสอบผลการขานรับ-ปฏิเสธ พบว่าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยทันที

เช่นเดียวกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ให้สัมภาษณ์ว่า นปช.รับไม่ได้

แต่นอกจาก 1 พรรค และ 1 มวลชนแล้ว ที่เหลือกลับมีท่าที…รับได้

นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่าพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้ กสม.ทำงานได้คล่องตัวขึ้น

โดยเฉพาะการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ และยกฐานะกฎหมาย กสม.

นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่าพอใจร่างรัฐธรรมนูญในระดับหนึ่ง

ดังนั้นกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศจะไม่เคลื่อนไหวใดๆ เพื่อคัดค้าน เพราะ กรธ.ได้บรรจุให้มีแนวทางในการพัฒนาระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรออกมาชัดเจน หากแต่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่าประชามติผ่าน

เพราะประชาชนอยากเลือกตั้ง

 

ในห้วงเวลานี้ก่อนจะถึงวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เสนอให้ทำประชามติ กลเกมการเมืองต่างๆ อาจมีการพลิกไปพลิกมา

นับตั้งแต่ท่าทีของขั้วอำนาจ “คนกันเอง” ที่ต้องตรวจสอบการใช้และการคานอำนาจอย่างใกล้ชิด

ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและ นปช. ที่ตั้งธงเอาไว้แล้วว่า จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

รวมไปถึงประสิทธิภาพของ กกต. ในฐานะเจ้าภาพจัดประชามติว่า สามารถมีกลยุทธ์ใดจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิกันมากได้

ทั้งนี้ เพราะมิใช่มีเพียงแค่ “เสียงข้างมาก” แล้วจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปเท่านั้น

“เสียงข้างมาก” ที่จะผ่านประชามตินั้น ต้องเป็นเสียงข้างมากที่โหวตแล้วสง่างาม

“เสียงข้างมาก” ที่จะสง่างามได้ ต้องเป็นเสียงข้างมากในจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิโหวตประชามติจำนวนมาก

ดังเช่นการคาดการณ์ของ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่เห็นว่าน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิโหวตประชามติ 85 เปอร์เซ็นต์

หากผลการโหวต “เสียงข้างมาก” จาก 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ …

เช่นนี้เสียงข้างมากย่อมมีศักดิ์และสิทธิ

แต่ถ้าผลการโหวต “เสียงข้างมาก” จากผู้มาใช้สิทธิที่น้อยมาก

เช่นนี้แม้จะเป็นเสียงข้างมากก็ย่อมสร้างความเคลือบแคลงในภายหลัง

ดังนั้น กกต.จึงต้องรับภาระนี้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นคิดเช่นไร ผลการลงประชามติจึงต้องรอวันที่ 7 สิงหาคม

เพียงแต่ผลจากการทำประชามติครั้งนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อ คสช. มากกว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์

เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับภาระแก้ไขสถานการณ์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปอาจต้องใช้วิธีประกาศออกมาด้วยอำนาจของ คสช. ซึ่งคงได้รับการยอมรับจากต่างชาติน้อยกว่าการทำประชามติ

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ที่ก้นของตัวยู ขณะที่สถานการณ์อื่นๆ แลดูเครียดขึงขึ้น

ทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ คือการนำประเทศไทยสู่การเลือกตั้งให้ได้

การยืนยันโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 จึงสำคัญ

การทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยผ่านความเห็นชอบจากการโหวตประชามติจึงสำคัญมาก

วันนี้หลายคำสั่งของ คสช. จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการนี้

นั่นคือ ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ…ต้องผ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image