‘พีระศักดิ์’ ค้านตั้งคำถามพ่วงประชามติ หวั่นปชช.สับสน

พีระศักดิ์ พอจิต-แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่สอง (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการลงพื้นที่ตามโครงการสนช.พบประชาชนที่ จ.มหาสารคามและจ.ขอนแก่น ยังไม่มีนักการเมืองท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนเพื่อให้สนช.ช่วยแก้ไขปัญหาให้ เรื่องการเมืองยังไม่มี มีเพียงคำถามว่า อยากให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งตนได้ชี้แจงถึงโรดแมปของรัฐบาล ซึ่งจะมีการเลือกตั้งแน่นอนประมาณปลายปี 60 ส่วนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคมนี้

นายพีระศักดิ์ กล่าต่อว่า ส่วนกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า มีทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะกระบวรการทั้งหมดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 57 โดยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้มีการแก้ไขว่า หากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการทำประชามติว่าจะทำแบบไหน

201604031349332-20131203105322

เมื่อถามว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เสนอคำถามพ่วงประชามติให้รัฐสภาโหวตเรื่องนายกรัฐมนตรี นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า คำถามของสปท.จะส่งไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณารวมกับคำถามประชามติของสนช. ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการสามัญประจำสนช.ทั้ง 16 คณะได้สรุปแล้ว โดยบางคณะก็ถามบางคณะก็ไม่ถาม โดยคำถามมีทั้งซ้ำและไม่ซ้ำกัน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯจะได้สรุปคำถามในวันที่ 4-5 เมษายนนี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการกิจการสนช.หรือวิปสนช. เพื่อให้พิจารณาว่า ะสรุปว่าจะถามหรือไม่ถาม หากถามจะเลือกคำถามอะไร จากนั้นก็นำที่ประชุมสนช.เพื่อขอมติว่าจะถามหรือไม่ในวันที่ 7 เมษายน จะได้ข้อยุติ เพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต่อไป

Advertisement

เมื่อถามว่า แนวโน้มการโหวตเลือกนายกฯค่อนข้างมีน้ำหนัก นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการหารือกันตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ส.ว.มีบทบาทหน้าที่ช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ส่วนตัวตนไม่เห็นด้วย ควรเป็นเรื่องและให้เกีรยติส.ส.เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และต้องเสนอชื่อนายกฯจำนวน 3 คนเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหน ซึ่งส.ส. ที่เป็นคนดีรักชาติบ้านเมืองก็มี อย่าไประแวงกันมาก อย่างไรก็ตามคำถามพ่วงประชามติหรือไม่ก็ขึ้นกับมติสนช. แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการตั้งคำถาม เพราะจะทำให้ประขาชนสับสน ซึ่งประชาชนควรให้ความสนใจเรื่องของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

เมื่อถามอีกว่า มองสถานการณ์การเมืองนี้อย่างไร เพราะมีทั้งฝ่ายที่รณณรงค์รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย แต่ตนอยากให้บ้านเมืองเดินไปตามกฎกติกา หากประชามติผ่าน มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาล เชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนอยากให้บ้านเมืองเดินหน้า แต่ในเรื่องของรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร คงจะเป็นเหมือนที่นายวิษณุพูดไว้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขก่อนหรือหลังการทำประชามติ แต่ถ้าหลังประชามติไม่ผ่านเป็นหน้าที่ของคสช.จะพิจารณา อย่างไรก็ตามเชื่อว่า คงไม่มีความขัดแย้ง เพราะทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการ และตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 และเสียงเรียกร้องของพรรคการเมืองและประชาชนที่ต้องการให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตนมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลักการใช้ได้ อะไรที่เป็นเงื่อนไขก็นำไปเขียนอยู่ในบทเฉพาะกาล คนชอบพูดถึงหลักการ กับสถานการณ์ เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนนี้ก็ต้องผสมผสานกัน เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image