บทนำมติชน : บรรยากาศใหม่

ร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รอการพิจารณาของ สนช.ว่า จะเสนอคำถามอื่นๆ ไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเตรียมทำประชามติโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่กำหนดไว้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในระหว่างนี้มีกระแสความคิดเห็นทั้งสนับสนุน-เห็นต่างในเรื่องของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองบางพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้นำรัฐบาลและ คสช.ได้ออกมาเตือนให้ระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

มีการเรียกร้องจากรัฐบาลว่า อยากให้ประชาชนออกมาลงประชามติกันมากๆ เพื่อให้ชัดเจนว่าประชาชนมีท่าทีอย่างไร ขณะที่ กรธ.และ กกต.ได้ตั้งความหวังว่า น่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 80% ซึ่งต้องยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมาก แต่ถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าความเห็นของประชาชนจะรับหรือไม่รับ จะยุติข้อสงสัยต่างๆ ได้มาก อย่างไรก็ตาม ในเชิงวิธีการ หากมีเป้าหมายอยู่ที่ 80% จะต้องมีแผนงาน และใช้เวลาเท่าที่เหลืออยู่ไม่กี่เดือน เร่งสร้างความรับรู้อย่างทั่วถึง ปลุกประชาชนให้ตื่นตัวขึ้นมามีส่วนร่วม

ในการสำรวจความเห็นของสวนดุสิตโพลเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ประชาชนให้ความสนใจต่อข่าวร่างรัฐธรรมนูญอย่างมาก หากต้องการแปรความสนใจให้เป็นความตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ น่าจะทำได้ไม่ยาก โดยรัฐบาลจะต้องเปิดกว้าง ให้เกิดบรรยากาศของการแสดงความเห็น ให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย โดยไม่จำกัดสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังที่นักวิชาการบางท่านชี้ว่า ธรรมชาติของการทำประชามติ มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ควรเปิดให้ทั้งสองกลุ่มได้บอกเหตุผลของตนเอง เพื่อจะได้ไปใช้สิทธิตามความเห็นของตนเอง

ส่วนที่ห่วงใยว่าจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษ และรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด เป็นไปได้ยากที่จะใช้เงื่อนไขของการประชามติมาสร้างความปั่นป่วน ดังนั้น กกต.จะต้องแจ้งให้ประชาชนและกลุ่มการเมืองต่างๆ ทราบถึงสิทธิของตนเองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า จะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้แค่ไหนอย่างไร บนพื้นฐานของการให้ทุกกลุ่มความเห็นมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชามติเป็นเรื่องของทุกคนและสะท้อนความคิดเห็นของเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image