กรรมเก่า การดูด กำหนด ‘ยุทธศาสตร์’ เลือกตั้ง ครั้งหน้า

หากมองอย่างเปรียบเทียบต่อผลกระทบอันเนื่องจาก “พลังดูด” อันแผ่แสนยานุภาพออกมาจากภายใน “ทำเนียบรัฐบาล” ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

ต้องยอมรับพรรคประชาธิปัตย์สาหัส

ไม่เพียงแต่ นายสกลธี ภัททิยกุล จะถูกดูดไปอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. ไม่เพียงแต่ นายชื่นชอบ คงอุดม จะถูกดูดด้วยเหตุผลความเป็นลูกกตัญญู

หากเด่นชัดว่าอาจต้องสูญเสีย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

Advertisement

และที่แน่นอนอย่างที่สุดก็สูญเสีย นายธานี เทือกสุบรรณ ไปแล้วอย่างบริบูรณ์นับแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมา

อีกทั้งยังตอบไม่ได้ว่าจะยังมีใครอีก

ขณะที่กล่าวทางด้านพรรคเพื่อไทย นอกจากกลุ่มวาดะห์ และความไม่แน่นอน อันมาจากกลุ่มสะสมทรัพย์แล้ว ถือว่าสถานการณ์ยังเป็นปกติ

Advertisement

เป็นปกติอย่างนอกเหนือความคาดหมาย

แม้จะมีความพยายามเน้นให้เห็นว่าการเอนเอียงและจะออกไปของกลุ่มมัชฌิมา หรือแม้กระทั่งกลุ่มบ้านริมน้ำก็ดีสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย

แต่เอาเข้าจริงๆ เป็นความสัมพันธ์ในยุค “ไทยรักไทย”

หรือแม้กระทั่งบรรยากาศที่พรรคภูมิใจไทยให้การต้อนรับการเดินทางไปบุรีรัมย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยมวลชนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่น

เท่ากับเป็นการเย้ยหยัน “เพื่อไทย”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนของพรรคภูมิใจไทยอาจเคยเป็นส.ส.ในยุคพรรคไทยรักไทยและในยุคพรรคพลังประชาชน

กระนั้น ก็ไม่ใช่ในยุค “พรรคเพื่อไทย”

การจะประเมินแล้วสรุปว่าพรรคเพื่อไทยเสียหายจาก “พลังดูด” จำเป็นต้องเอาส.ส.ที่ได้รับเลือกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มาเป็นบรรทัดฐาน

เพราะเดือนกรกฎาคม 2554 คือ เส้นแบ่ง

พลันที่ได้รับการยืนยันจากรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ว่าอดีตส.ส.ยังอยู่ครบ

นั่นหมายถึง อดีตส.ส.เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

นั่นไม่ได้หมายถึง อดีตส.ส.ที่ไปสังกัดพรรคพลังพลเมือง หรือที่สังกัดพรรคภูมิใจไทย หรือที่สังกัดกลุ่มมัชฌิมา

การระบุว่า “เพื่อไทย” สะเทือนนั่นเท่ากับเป็นการขยายวง

ขยายวงไปผนวกรวมเอาอดีตส.ส.ในยุคพรรคไทยรักไทย ขยายวงไปผนวกรวมเอาอดีตส.ส.ในยุคพรรคพลังประชาชน

แท้จริงแล้ว เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 คือ ด่านสำคัญ

สำคัญในการตรวจสอบ สำคัญในการสกรีนระหว่างคนที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยกับคนที่แยกตัวออกไปภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทย ภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน

เป็นผลสะเทือนจาก “รับเงินหมา กาเพื่อไทย”

หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป นั่นก็คือ การเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามคำมั่นอันมาจากคสช. และจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่จะเป็นอีกครั้งของการตรวจสอบ

ไม่เพียงตรวจสอบว่าคนที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร หากแต่ยังตรวจสอบว่าคนที่เข้าไปร่วมกับ “พรรคคสช.” จะได้รับเลือกหรือว่าถูกลอยแพ

ยุทธศาสตร์ การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงแหลมคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image