ที่เห็นและเป็นไป : บันทึกไว้‘ตัดสินใจเลือก’

อาจจะเป็นเพราะ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตามด้วยรายละเอียดในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ทำให้การเมืองเหมือนจะต้องเริ่มต้นกันใหม่

“เซตซีโร่” กลับไปตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่ ด้วยการห้ามพรรคการเมืองเก่าดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่เข้าสู่จุดสตาร์ตพร้อมๆ กัน ตั้งแต่การจัดทำรายชื่อสมาชิกพรรค จนถึงการประชุมดำเนินการต่างๆ

ทางหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นหนทางที่จะทำให้พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” มีโอกาสตั้งหลักได้มั่นคงพอจะยืนขึ้นสู้พรรคการเมืองเก่าที่มีฐานมาก่อนหน้าได้

แต่อีกทางหนึ่งจะพบว่าเป็นโอกาสของพรรคการเมืองที่จะหาทางแสดงความชัดเจนออกมาให้ประชาชนได้เห็นว่าจะฝากความหวังไว้ได้แค่ไหน

Advertisement

หากมองอย่างแยกแยะไปที่พรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนี้ น่าจะแยกได้เบื้องต้นเป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือแบบแรก พรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ และแบบที่สอง พรรคขนาดใหญ่กับพรรดขนาดเล็ก แบ่งตามทิศทางวิธีดำเนินการของพรรค

พรรคขนาดใหญ่ที่เป็นพรรคการเมืองเก่ามี 2 พรรค ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ที่เป็นพรรคใหม่น่าจะเป็น
“ประชารัฐ” ที่ตั้งขึ้นเพื่อสานต่ออำนาจ คสช. และกำลังใช้ “พลังดูด” จนเป็นที่เลื่องลืออยู่ในขณะนี้

ส่วนพรรคขนาดเล็กมีมากมายทั้งที่มีอยู่เก่าและจัดตั้งขึ้นใหม่ ว่ากันว่าถึงขณะนี้น่าจะมีเป็น 100 พรรค

อย่างไรก็ตามการแบ่งแบบ พรรคใหม่ พรรคเก่า และพรรคเล็ก พรรคใหญ่นั้น สำหรับความเป็นไปทางการเมืองในปัจจุบันดูจะไม่น่าสนใจเท่ากับการแบ่งในแบบที่ 3 คือ แบ่งตามทิศทางและจุดยืนของพรรค

ในการแบ่งแบบที่สามนี้ก่อนหน้านั้นอาจะแยกเป็น เสรีนิยมกับอนุรักษนิยม หรือทุนนิยมกับสังคมนิยม

แต่ถึงวันนี้ดูเหมือนในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจะเป็นไปในทาง “สนับสนุนเผด็จการ” หรือ “ยึดมั่นในประชาธิปไตย” จะชัดเจนในการแบ่งมากกว่า

แม้จะแบ่งด้วยการพิจารณาความเป็นไปในเรื่องนี้จะดูไม่ง่ายนัก เพราะทุกพรรคการเมืองต่างประกาศว่ายึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วยกันทั้งนั้น แต่หากมองที่แนวโน้มของเจตนาของผู้นำพรรคการที่จะมองเห็นแนวทางของพรรคเป็นเรื่องไม่ยากนัก

แม้จะประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหมือนกันแต่ความแตกต่างอยู่ที่ “พรรคการเมืองไหนมั่นคงในผลประโยชน์ของตัวเอง” มากกว่า “มั่นคงในประชาธิปไตย”

“พรรคการเมืองที่มั่นคงในผลประโยชน์ของพรรค” จะเห็นได้จากความพร้อมที่จะสนับสนุนใครก็ได้ที่จะทำให้
ตัวเองสามารถเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะเอื้อให้แสวงผลประโยชน์ได้

แม้คนที่ตัวเองเข้าไปสนับสนุนนั้นชัดเจนว่าเป็น “เผด็จการ” ชื่นชอบที่จะใช้อำนาจคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ส่วนพรรคที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยนั้น มีความชัดเจนว่าไม่เอาด้วยกับ “เผด็จการ” พร้อมที่จะยืนอยู่ข้างอำนาจ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

ที่ผ่านมาการเมืองไทยทุลักทุเล ไม่สามารถพัฒนาไปอย่างมั่นคง เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดเป็นจำพวก เอาผลประโยชน์ของพรรคเป็นที่ตั้ง ไม่เลือกวิธีการที่จะเข้าสู่ศูนย์อำนาจ แม้จะประกาศตัว
เป็นประชาธิปไตยแต่พร้อมจะยินยอมให้กับเผด็จการเพื่อแลกกับการได้ส่วนแบ่งในอำนาจ

ทำให้ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งพอจะนำพาประเทศชาติพัฒนาไปด้วยอำนาจของประชาชนได้อย่างมั่นคง

ณ วันนี้ แม้ยังไม่แน่นอนนักว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างที่ผู้มีอำนาจอนุญาตให้มีหรือไม่ แต่ท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ที่แสดงออกมามีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า มั่นคงในจุดยืนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นการเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สิ่งที่ควรจะบันทึกไว้เพื่อเตรียมการสำหรับตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหน เลือกนักการเมืองแบบไหน จึงคือการแสดงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า ใครมีท่าทีอย่างไร จุดยืนมั่นคงแค่ไหน

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image