“กกต.” ติวเข้มมอบนโยบายทำ “ประชามติ” ขณะที่ “สมชัย”แจงยึดหลัก 3 ป.

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการจัดโครงการประชุมชี้แจงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวมอบนโยบายว่า ผู้บริหารและพนักงานกกต.ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานครั้งสำคัญ จึงขอให้ทำงานเป็นทีมเหมือนห่านไซบีเรีย มีสิ่งใดต้องช่วยและสามัคคีกัน บางครั้งการทำงานต้องให้อภัยกัน เพราะการออกเสียงประชามติครั้งนี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการระดับจังหวัดนั้นถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นทัพหน้า ขณะที่กกต.ส่วนกลางเป็นเพียงผู้กำกับดูแล หากระดับจังหวัดทำได้ดีการออกเสียงประชามติก็จะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ ขณะนี้ทุกภาคส่วนที่คอยตรวจสอบการทำงานของกกต.มีอยู่มาก เนื่องจากเราถูกจับจ้องว่าจะมีการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยหรือมีความไม่ชอบมาพากลในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้นเมื่อถูกจับจ้องจึงต้องระวังเรื่องการใช้จ่าย ให้คุ้มค่า หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ เพราะงบประมาณการออกเสียงประชามตินั้นแม้จะมีการตัดลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีการกระแนะกระแหนเราว่าจะใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย ดังนั้นเราจะต้องใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ทั้งนี้หากเราทำงานสุจริต โปร่งใส ตรงไปตรงมา ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาฟ้องร้องหรือจะมาตรวจสอบ แต่หากเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะทำงานเราก็พร้อมจะร่วมกันแก้ไข และเห็นใจสำนักงาน กกต.จังหวัดที่ยังคลากรขาดเยอะ จึงมีการหารือกันว่าจะเปิดรับสมัคร 200 อัตรา เพื่อนำมาฝึกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2560

ส่วน นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าว
ว่า ภารกิจการทำประชามติเป็นวาระสำคัญและเป็นกิจกรรมที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอนาคต ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างประเทศจับตามองการทำประชามติครั้งนี้ โดยประสิทธิภาพของการทำประชามติจะเป็นการแสดงฝีมือขององค์กรเราว่าจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ หากเราแสดงฝีมือให้การทำประชามติครั้งนี้เป็นไปตามหลักสากล และได้รับการยอมรับ นอกจากนั้นอยากให้ทำงานแบบมีความคิดสร้างสรรค์ โดยการทำประชามติครั้งนี้มีภารกิจ โดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติที่มีประสิทธิภาพ และการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติให้มากที่สุด ซึ่ง กกต.ต้องการให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 80 เพื่อไม่ให้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ไม่ให้ถูกมองว่าผลาญงบแต่ทำอะไรไม่สำเร็จ และแม้ในสังคมไทยจะมีไทยเฉยเยอะแต่เราก็จะทำต่อไปให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการทำประชามติครั้งนี้ให้ได้ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียง และเราต้องทำให้เต็มที่ แต่หากเราทำไม่ได้ร้อยละ 80 เราก็จะได้รู้ว่าเรามีหนี้ติดค้างที่ครั้งหน้าเราจะต้องทำให้สำเร็จ ทั้งนี้การจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุดจะต้องมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และการให้บริการอย่างรวดเร็ว

นายธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า การทำประชามติและการเลือกตั้งแตกต่างกัน เพราะในการเลือกตั้งเราจะต้องเป็นกลาง แต่การทำประชามตินั้นประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม เราจะต้องทำให้ประชาชนออกมาตัดสินใจบนความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทั้งนี้ตนเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าการทุจริตในการทำประชามตินั้นไม่มีเพราะมีการออกกฎหมายรุนแรง และเรื่องที่ทำประชามติไม่มีใครมีส่วนได้ส่วนเสีย และในการทำประชามติที่ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งนั้นไม่สามารถมีใครมาโกงได้

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า หลักการสำคัญการทำประชามติคือ หลัก 3 ป.ประกอบด้วย ป.ที่หนึ่ง ประชาชนสะดวก ป.ที่สอง ประชามติเที่ยงธรรม และ ป.ที่สาม ประชาธิปไตยคุณภาพ โดยป.ที่หนึ่ง ประชาชนสะดวก เราได้ขยายเวลาการออกเสียงจากเวลา 08.00- 15.00น.เป็นเวลา 08.00- 16.00 น.การอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการด้านต่างๆหรือสามารถนำผู้ดูแลพาเข้าคูหาหรือช่วยลงคะแนนได้ ส่วนป.ที่สอง คือ ประชามติเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าป.แรก เพราะการทำประชามติที่ดีต้องให้โอกาสคนที่เห็นต่างๆทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เกิดการเอาเปรียบกัน ทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่

Advertisement

นายสมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเอกสารแบบบุ๊คเล็ต 12 หน้าที่จะจัดส่งพร้อมเอกสารแจ้งเจ้าบ้านนั้น แบ่งออกเป็น หน้าแรกคือปกหน้า หน้าที่ 2-3 เป็นการกล่าวถึงกระบวนและขั้นตอนการออกเสียงประชามติ หน้า 4-7เป็นการสรุปย่อสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยส่วนนี้จะมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่วนหน้า 8-9 เราจะให้ฝ่ายที่เห็นชอบมาเขียนเองว่าเหตุใดต้องรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนอีกสองหน้าคือ หน้า10-11 เราก็จะให้ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบเขียนระบุว่าเหตุใดจึงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหน้าสุดท้ายคือหน้าของกกต.ซึ่งเป็นปกหลังที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าการออกเสียงเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างไร รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้มากที่สุดตามแนวคิดยุทธศาสตร์ดอกไม้บานสะพรั่ง

“ขอให้ กกต.จังหวัดหาแนวทางอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในวิสัยที่สามารถทำได้ แต่ไม่เป็นลักษณะการชี้นำการตัดสินใจ นอกจากนี้จะมีคำแนะนำไปยังฝ่ายต่างๆว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ควรหลีกเลี่ยงในการออกเสียง หากเกิดข้อร้องเรียน ก็อาจจะเป็นความผิดได้ วันนี้มีคนถามตลอดเวลาทั้งฝ่ายการเมืองประชาชนว่าอะไรทำได้หรืออะไรไม่ควรทำ หรือสิ่งใดทำแล้วผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงกกต.รุ่นพี่คนหนึ่งก็แสดงความเป็นห่วงเป็นใยด้วยว่ากกต.ชุดผมต้องพูดให้ชัดว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งกกต.รุ่นน้องพร้อมรับฟังและพร้อมดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ แต่หากรุ่นพี่ไม่บอกเราก็รับฟังอยู่แล้ว”นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนป.ที่สาม ประชาธิปไตยคุณภาพ ถือว่ายากที่สุดเพราะจะทำให้อย่างไรให้การออกเสียงประชามติมีคุณภาพ ประชาชนเข้าใจสาระร่างรัฐธรรมนูญพอสมควร เราไม่ต้องการให้ประชาชนอ่านทุกมาตราหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งแต่ แต่เราต้องการให้ประชาชนสามารถรู้หลักการสำคัญที่เพียงพอต่อการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งถือว่ายากมาก อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญหลังจากประชามติเสร็จแล้วกกต.ต้องทำให้ประชาชนและนานาชาติยอมรับทั้งผลและกระบวนการทำประชามติครั้งนี้ด้วยเพราะการทำประชามติครั้งนี้อยู่ในสายตาของชาวโลก

ขณะที่นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ระยะเวลา 4 ก่อนที่จะมีการทำประชามติ ขอให้ร่วมหาแนวทางการทำงานในการจัดออกเสียงประชามติ การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ข้อเสนอแนะที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อให้การออกเสียงเป็นไปอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายพลเมืองร่วมรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนถึงพื้นที่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image