เห็นพ้อง! 3 พรรค ‘พท.-ชทพ.-อนาคตใหม่’ โชว์จุดยืน ชูธงแก้รธน.60 หลังเลือกตั้ง

วงเสวนาวันปรีดี มธ.เปิดเวทีคนรุ่นใหม่ “อภิวัฒน์สยาม2562” 3 พรรค “พท.-ชทพ.-อนาคตใหม่” ชูธงแก้รธน.หลังเลือกตั้ง

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในงานวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2561 มีการจัดเสวนาหัวข้อ “อภิวัฒน์สยาม 2562 : ความหวังและอนาคตประเทศไทย” โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมอภิปรายดังนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย

นายธนาธร กล่าวว่า ถ้ามองผลอภิวัฒน์ 2475 และมาดูปัจจุบัน อ.ปรีดี ทำอะไรมาบ้างกว่า 80 ปีที่ผ่านมา อะไรที่สำเร็จและไม่สำเร็จ และเป็นภารกิจที่คนรุ่นปัจจุบันต้องทำต่อ ซึ่งการอภิวัฒน์ 2475 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับภาครัฐ แต่ผ่านมา 86 ปี อำนาจนั้นจนถึงปัจจุบัน ประชาชนยังไม่ได้รับ ทั้งนี้ ต้องพูดให้ชัดว่าหลักการเสาค้ำยัน 2475 ยังไม่ได้ถูกสถาปนารากลึกลงในสังคมไทย

Advertisement

“สำนึกพลเมือง การอภิวัฒน์ 2475 สิทธิเสรีภาพ และเสมอภาคให้ประชาชน สิ่งต่างๆเหล่านี้ยังไม่มี การเลือกตั้งอาจมีจริง แต่การอภิวัฒน์ต้องสานต่อ และพูดเพราะเข้าใจดีสังคมไทยยังไม่มีความหวัง ต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้การเลือกตั้งปี 2562 มีจริง แต่ควรเอาหลักกฎหมายจากการปฏิวัติ 2475 กลับมาสังคมไทยอีกครั้ง ยกตัวอย่าง อาทิ น้ำท่วมอยุธยา หลายพื้นที่นอกกทม.มีปัญหาดังกล่าว คนในพื้นที่เหล่านี้ ปีหนึ่งจะเจอสภาวะนี้ 2-3 เดือนต่อปี เมื่อลดก็เจอปัญหาค่าซ่อมบ้าน รู้ดีว่าน้ำท่วมนอกกทม.เกิดจากสาเหตุอะไร เพราะกันไม่ให้ทะลักเข้าเขตเมือง มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ หากเป็นฉันทามติมาบางกลุ่มต้องรับน้ำ ก็ควรได้ค่าตอบแทนจากเรื่องนี้” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำทั้งหมด จะจัดการไม่ได้ถ้าไม่พูดถึงประชาธิปไตย และมันต้องไปด้วยกัน ตัวอย่าง เมืองซุก สวิสเซอร์แลนด์ เมืองนี้ตัดสินใจหากคุณจะจ่ายเงินรัฐค่าบริการโดยใช้ระบบดิจิตอล ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แต่ไทยต้องมาจากส่วนกลางตัดสินใจ ถ้าเปิดโอกาสให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ พลังจะถูกปลดปล่อย ผมปฏิเสธคนต่างจากไม่มีศักยภาพในการพัฒนา ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องคนเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่แค่ไม่มีอำนาจ

“หากได้เป็นนายกฯ การแก้รัฐธรรมนูญคงไม่พอ แต่ควรยกเลิกมากกว่า เพราะมีรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่เนื้อหาหลักการไม่มีความเชื่อและยึดโยงหลักการนี้ รัฐธรรมนูญ 60 เขียนกลไกไว้มาก แก้ไม่ได้ แต่ยกเลิกได้ด้วยการสร้างความเห็นด้วยทั้งสังคม และร่างใหม่ที่มาจากประชาชนเพราะรัฐธรรมนูญ 40 ลืมบอกให้ทหารออกจากการเมือง ดังนั้น เมื่อเขียนใหม่ต้องจัดการเรื่องนี้ด้วย” นายธนาธร กล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.รัชดา กล่าวว่า คนไทยทุกคนต้องมีความหวัง ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ได้ เลือกตั้งเกิดขึ้น สิ่งดีๆเกิดขึ้นตามมาแน่นอน แต่มีเงื่อนไข 2 ประการ 1.ต้องได้ผู้แทนของประชาชนแท้จริง หากไม่ใช่การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย และ 2.การเลือกตั้งต้องได้คนพร้อมร่วมทุกข์ สุข ป้องผลประโยชน์ประชาชน ประชาชนต้องรู้เท่าทันพรรค และนโยบายของพรรค เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีนโยบายใหม่ๆออกมามาก แต่ต้องคิดให้ดีเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประเทศระยะยาวหรือไม่

“ประชาธิปไตยไม่ใช่หยุดที่การเลือกตั้ง แต่ต้องนำไปสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย ไม่ใช่การผูกขาด แต่สามารถทำให้รายเล็กรายย่อยลืมตาอ้าปากได้ และต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นให้ได้ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ บริหารประเทศในช่วงประเทศเจอวิกฤติ แนวนโยบายบริหารจึงต่างกับสภาวะปกติ ความง่ายในการบริหารจึงต่างจากรัฐบาลอื่น โจทย์คือใครขึ้นมาก็ต้องแก้ไข จะเห็นได้ว่าคนรวย 50 คนในประเทศ มีทรัพย์สินรวม 5 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณประเทศ ดังนั้น จะคลี่มาสู่คนชนชั้นกลางทำอย่างไร จึงต้องมาหลายมิติ โดยให้คนจนมีที่ดินทำกิน สอดคล้องกับ อ.ปรีดี”

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำต้องส่งเสริมศักยภาพให้กับเกษตรกร การศึกษา และหัวใจสำคัญ คือ การศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ดีแต่ยังไม่มากพอในการตอบโจทย์กับเยาวชนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น ต้องกระจายให้โรงเรียนออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาการศึกษา สอนแบบท่องจำไม่ได้ ต้องสอนให้มีทักษะการใช้ชีวิต หากได้เป็นนายกฯ ทำเรื่องการกระจายอำนาจ ปฏิรูปตำรวจ กระจายจากส่วนกลางไปภูธร เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้พ่อเมืองมาจากคนที่ประชาชนรู้จัก ไม่ใช่การโยกย้าย

ขณะที่ นายวราวุธ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งปี 62 เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไทยเจนวาย เจนแซด ใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้ตั้งความหวังไว้สูงบ้าง ต่ำบ้าง เพราะรัฐธรรมนูญ 60 เปลี่ยนแปลงบางส่วน มีข้อด้อย ข้อจำกัด การบริหารงานของรัฐบาล ต้องขอความเห็นชอบศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ จึงเห็นด้วยถ้าจะแก้ รัฐธรรมนูญ แต่การเลือกตั้ง ก.พ. 62 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ตัวอย่างการเลือกตั้งมาเลเซีย ฝ่ายค้าน มหาเธร์ มะฮะหมัด กลับมาด้วยคะแนนเสียงประชาชน และการเลือกตั้งของไทยหลายสิบล้านคน เป็นการลงคะแนนครั้งแรก เพื่อเห็นว่าก้าวต่อไปของประเทศเป็นอย่างไร แม้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่เป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“อาจแก้ไม่ได้ หนึ่งหรือสองรัฐบาล หรือ หนึ่งหรือสอง การเลือกตั้ง แต่ต้องดำเนินการต่อไป เมื่อถึงเวลาเชื่อว่า ความรวย จน ช่องว่าง ต่างจังหวัด คนเมือง จะหายไป และหากได้เป็นนายกฯ จะตั้งสสร.ใหม่ เพื่อทำให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากทุกภาคส่วน” นายวราวุธ กล่าว

ส่วน น.ส.ขัตติยา มองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า มีความหวังเปลี่ยนแปลงประเทศ จะมีคนรุ่นใหม่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ถามว่าจะมีทัศนคติอย่างไร มองการเมืองไทยแบบไหน ซึ่งไม่ใช่คนรุ่นใหม่เท่านั้น 4 ปีการรัฐประหาร ไม่ได้ช่วยให้ประเทศภาพรวมดีขึ้น ดังนั้น ควรนำประเทศกลับไปสู่ประชาธิปไตยเหมือนเดิม ทั้งนี้ ไม่ควรมีอำนาจนอกระบบมาขั้นกลาง และอยากให้เติบโตไปตามธรรมชาติ การเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ หรือ โหวตเตอร์ 8 ล้านเสียง ซึ่งสำคัญต่อการเลือกตั้ง และอยากมีส่วนร่วมในทางการเมือง มีโอกาสเข้าคูหาเพื่อกา ซึ่งเป็นสัญญาณประชาธิปไตยว่าจะเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ แม้กระทั่งผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ถึงเวลาอยากใช้สิทธิเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ประชาธิปไตยอาจไม่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่ดีที่สุด ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

“นอกจากนี้ หากได้เป็นนายกฯ แก้รัฐธรรมนูญ อาจทำประชามติแบบรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้ เพื่อให้ตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และการทำมาหากินของประชาชน เพราะผู้ร่างอาจอยู่ไม่นาน แต่คนอยู่นานอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะ 20 ปีนานเกินไป” น.ส.ขัตติยา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image